ถอดรหัสประเทศไทย ไฉน 4 ปี FDI น้อยสุดในอาเซียน

28 ก.ค. 2562 | 05:49 น.

รายงานพิเศษ โดย บัณฑูร  วงศ์สีลโชติ

รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

การศึกษาของ UNCTAD (United Nations Conference on Trade and Development) องค์กรของสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา พบว่าประเทศในอาเซียนล้วนมี Special Economic Zone (SEZ) เพื่อดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ Foreign Direct Investment (FDI) สร้างงานการผลิต ส่งออก ลงทุนสาธารณูปโภค และทางการเงิน แม้ FDI มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย แต่ผลปรากฎว่า ที่ผ่านมา 4 ปี ไทยได้รับน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน หากไม่นับประเทศอย่าง บรูไน กัมพูชา ลาว และพม่า 

 

ตารางข้างล่างสรุปว่าสิงคโปร์มาเป็นอันดับ 1 เฉลี่ย 4 ปีได้รับมากกว่าไทย 12 เท่า อินโดนีเซียตามมาเป็นอันดับที่ 2 มากกว่าไทย 2.5 เท่า เวียดนามอันดับที่ 3 มากกว่าไทย 2.3 เท่า มาเลเซียอันดับที่ 4มากกว่าไทย 1.5 เท่า ส่วนฟิลิปปินส์เป็นอันดับที่ 5 ได้รับมากกว่าไทยเกือบ 10%  โดยเฉพาะในปี 2016 เงินลงทุนเข้ามาไทยลดลง 68% เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ลาว และกัมพูชาขณะนั้นขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากกว่าไทย จากรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ถูกมองว่าไม่น่าไว้วางใจในเวลานั้น แม้ญี่ปุ่นที่เคยเป็นนักลงทุนรายใหญ่ก็ลดการลงทุนในไทยกว่า 81% สหภาพยุโรป(อียู) ก็ลดการลงทุนในไทยลง 97% แม้แต่จีนก็ลดการลงทุนในไทยลง 21%  

ถอดรหัสประเทศไทย  ไฉน 4  ปี FDI น้อยสุดในอาเซียน

แต่ตั้งแต่ปี 2017 FDI กลับฟื้นตัวดีขึ้นจากโครงการอีอีซีในภาคตะวันออก the Eastern Economic Corridor (EEC) ที่รัฐบาลไทยได้เสนอการลดภาษีอย่างมาก อนุญาตให้เป็นเจ้าของที่ดินได้ อำนวยความสะดวกในการออกวีซ่า ฯลฯ สร้างความเชื่อมั่นกลับมาทำให้ FDI เข้าไทยมากขึ้น โดยมีนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่ได้ร่วมกันลงทุนในไทยมากกว่า 50% ของเงินลงทุนที่เข้ามาในไทย นอกจากนี้ยังมีประเทศในอียูอย่างอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และยังมีไต้หวัน และสวิตเซอร์แลนด์

ถอดรหัสประเทศไทย  ไฉน 4  ปี FDI น้อยสุดในอาเซียน

 

ในปี 2019 ประเทศไทยได้ตำแหน่งประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจเป็นอันดับที่ 27 ของโลก แม้จะต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ก็สูงกว่าประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย  ปัจจัยที่ทุก ๆ ประเทศในอาเซียนล้วนใช้ในการดึงดูด FDI มีคล้าย ๆ กันหมด คือ เรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้หลาย ๆ ปี ให้ความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ เป็นต้น การหาปัจจัยที่ทำให้ได้เปรียบจึงสำคัญ อย่างเช่น ค่าแรงที่ไม่สูงเกินไป ค่าเงินที่ไม่แข็งเกินไป สาธารณูปโภคที่ดี การบริการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และการมี FTA กับประเทศต่าง ๆ

 

ถอดรหัสประเทศไทย  ไฉน 4  ปี FDI น้อยสุดในอาเซียน

 

กรณีนี้ สิงคโปร์มี FTA มากที่สุดคือ 43 FTAs โดยเฉพาะการมี FTA กับประเทศที่มีศักยภาพในการบริโภคสูงอย่างสหรัฐฯ และอียู ไทยจึงควรต้องพิจารณาให้มี FTA กับสหรัฐฯ และสหภาพยุโป(อียู)โดยเร็ว  เปรียบเทียบไทยกับอินโดนีเซีย 4 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้รับเงินลงทุนเฉลี่ยมากกว่าไทย โดยส่วนใหญ่ลงทุนด้านเหมืองแร่ เครื่องจักรกล และอิเล็กทรอนิกส์

 

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเคมีและผลิตยา มีประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในอินโดนีเซีย ตามด้วยจีนและญี่ปุ่น แต่อินโดนีเซียยังมีปัญหาความมั่นคงทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่มองดูว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อนักลงทุน มีกฎระเบียบที่บางครั้งไม่อาจคาดเดาได้ มีต้นทุนการเงินที่สูง และสาธารณูปโภคที่ยังไม่ดี นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก แต่อาจจะไม่มากกว่าไทยเพียงแต่ไทยเรามีวิธีทุจริตที่ก้าวหน้ากว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่เปิดช่องให้ทุจริตได้อย่างถูกกฎหมาย ฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมายได้ยาก ทำให้ดูเหมือนไม่มี แต่ก็มี และโกงกินเงินของประชาชนได้ทีละมาก ๆ ด้วย

หากเปรียบเทียบกับเวียดนามที่ได้กลายเป็นประเทศที่ดึงดูด FDI มากกว่าไทย ประเทศที่ได้ลงทุนมากที่สุดคือญี่ปุ่น ตามด้วยเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ โดยเฉพาะในการผลิตสินค้าไฮเทค ทำให้เวียดนามได้พัฒนาขึ้นเป็นแหล่งผลิตสินค้าเทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ นอกเหนือจากเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าที่ได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างมาก ช่วงเวลานี้ที่สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังหาความตกลงไม่ได้ และไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้ ประเทศในอาเซียนจึงมีโอกาสดึงดูดการลงทุนจากนานาประเทศที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน

ถอดรหัสประเทศไทย  ไฉน 4  ปี FDI น้อยสุดในอาเซียน

ส่วนมาเลเซียเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความง่ายในการทำธุรกิจสูงกว่าไทย ส่วนหนึ่งเพราะคนมาเลเซียพูดภาษาอังกฤษได้ดี FDI ที่เข้ามาเลเซียใน  9 เดือนแรกของปี 2018  มีการเพิ่มขึ้นมากถึง 350% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2017 โดยมีเงินลงทุนจากจีน สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน ล้วนนับได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญประเทศหนึ่ง

ขณะที่สิงคโปร์ ซึ่งเปรียบเทียบไม่ได้กับนานาประเทศในอาเซียน เพราะเหนือกว่ากันมาก  สิงคโปร์นับเป็นประเทศที่ได้รับ FDI มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 4 ของโลกในปี 2018 ทั้งนี้เพราะรัฐบาลสิงคโปร์มีความโปร่งใสในการออกกฎระเบียบต่าง ๆ  กฎระเบียบต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาล้วนมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือรองรับและคาดเดาได้ มีการปฎิบัติงานในระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง มีระบบการเงินเสรี มีแหล่งเงินทุนที่เปิดกว้างที่นักลงทุนเข้าถึงได้อย่างง่ายดายและในต้นทุนที่ไม่สูง ที่สำคัญคือสิงคโปร์ถูกจัดเป็นประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายและดีที่สุดในโลก ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น 100%

 

ในภาพรวมปริมาณเงินลงทุน FDI ทั่วโลกในปี 2018 ลดลง 13% เมื่อเทียบกับปี 2017 เหลือ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เหตุผลหนึ่งเกิดจากการส่งเงินกลับสหรัฐฯของบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯในครึ่งปีแรกของปี 2018 ตามนโยบายของทรัมป์ซึ่งเปลี่ยนนโยบายเรียกเก็บภาษีจากกำไรของบริษัทสหรัฐฯไม่ว่าประกอบธุรกิจที่ใดก็ตามในโลก ซึ่งเดิมยกเว้นไว้จนกว่าจะส่งเงินกลับสหรัฐฯ การส่งเงินคืนไปสหรัฐฯจึงมีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ประกาศเป็นกฎหมายปลายปี 2017

 

แต่ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2018 เงินเหล่านี้ส่งกลับน้อยลง ที่ผ่านมาปี 2018 เงินลงทุน FDI ที่เข้าไปในประเทศพัฒนาแล้วโดยรวมกลับลดลงมาก ราว 27% เหตุผลกิดจากเงินที่เข้ายุโรปลดลงไปราว 50% คิดเป็นเงินลงทุนน้อยกว่า  $200 billion โดยเฉพาเงินลงทุนที่เข้าไปอังกฤษลดลงอย่างมาก แม้ส่วนที่เข้าไปสหรัฐฯเองก็ลดลง 9% เหลือราว $252 billion แต่เงินลงทุนที่เข้าไปยังประเทศกำลังพัฒนายังดีอยู่โดยเพิ่มขึ้น 2% คิดเป็นเงินราว $706 billion ทำให้ส่วนแบ่งเงินลงทุน FDI คิดเป็น 54% ของปริมาณเงินลงทุน FDI ทั้งโลก โดยมีเงินลงทุนเข้าแอฟริกาเพิ่มขึ้น 11% คิดเป็นเงินราว  $46 billion  ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อขุดหาทรัพยากรธรรมชาติไปใช้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เข้าไปลาตินอเมริกาลดลง 6% และส่วนที่เข้าไปรัสเซียลดลง 49% ในปี 2017-2018 สหรัฐฯยังคงเป็นประเทศที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุด ตามด้วยจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ (ดูรูป) 

ถอดรหัสประเทศไทย  ไฉน 4  ปี FDI น้อยสุดในอาเซียน

การศึกษาคาดการณ์ว่าปี 2019 จะมีปริมาณเงินลงทุน FDI เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2018 เพราะเงินที่บริษัทสหรัฐฯส่งกลับไปสหรัฐฯจะมีปริมาณลดลง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 10% ประมาณ $1.5 trillion ซี่งนับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอัตราเฉลี่ย 10 ปีสาเหตุเกิดจากสงครามการค้าที่กำลังมีอยู่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และอาจมีอีกระหว่างสหรัฐฯกับอียู ฯลฯ ผลจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนได้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ลดลงเหลือ 6.2% ต่ำที่สุดใน 27 ปี แต่ก็ทำร้ายสหรัฐฯเหมือนกัน เช่นสหรัฐฯได้เสียการส่งออกไปตลาดจีนมากกว่า 30% ทำให้การขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเป็น $30 billion ในขณะที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯลดลงเพียง 8% ซึ่งส่วนที่ลดลงทำให้เวียดนาม บังกลาเทศ ส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ไทยก็ได้อานิสงส์ส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเล็กน้อย    

 

หลังจากมีสงครามทางการค้ากับสหรัฐฯ จีนพยายามเสนอแรงจูงใจให้บริษัทต่างชาติอยู่ต่อ ไม่ย้ายฐานการผลิตออกไป  โดยเสนอผลประโยชน์ให้มากกว่าภาษีนำเข้า 25% ที่สหรัฐฯคิดกับสินค้าที่ผลิตในจีน แต่ภายในปีเดียว มีบริษัทกว่า 50 แห่งที่ถอนออกบางส่วน แม้ไม่หมด เช่น  Apple จะย้ายโรงงานผลิต AirPods ไปเวียดนาม Nintendo จะย้ายฐานการผลิตสินค้าที่เรียกว่า  Nintendo Switch game ไปเวียดนาม รวมทั้งบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างระบุว่าจะย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท Sharp ของญี่ปุ่น จึงมีคำถามว่า ทำไมไม่ระบุว่าจะมาไทยบ้าง ?