ชาบูหม้อไฟ 2 หมื่นล้าน ระอุ ‘โม โมพาราไดซ์’ เปิดเกมชิงแชร์

27 ก.ค. 2562 | 02:10 น.

เทรนด์สุขภาพดันตลาดชาบูหม้อไฟ 2 หมื่นล้านบาทระอุ “โม โม พาราไดซ์” ฮึดสร้างแบรนด์หลังซุ่มเปิดสาขา 17 แห่งในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา พร้อมส่งโมเดลใหม่สไตล์คาเฟ่ เสิร์ฟพรีเมียมเซตรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ชอบมาคนเดียว นำร่องสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ มั่นใจสิ้นปีโกยรายได้กว่า 800 ล้านบาท

นายสุรเวช เตลาน กรรมการผู้จัดการบริษัทโนเบิล เรสเตอท์รองต์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านชาบูชาบู สุกียากี้ “โม โม พาราไดซ์” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยจะยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่มองว่าจากกระแสการดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคมองหาสิ่งที่มีประโยชน์ ส่งผลให้ธุรกิจชาบูหม้อไฟ และสุกี้ในเมืองไทยยังมีช่องว่างและการเติบโตสูง โดยประเมินว่ามีการเติบโตมากกว่า 10% ต่อปี ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจชาบูหม้อไฟรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศและการเข้ามาของแบรนด์จากต่างประเทศ ทำให้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มมีการสื่อสารแบรนด์ ขยายสาขา และกิจกรรมทางการตลาดเชิงรุกมากขึ้น

สำหรับในปีนี้บริษัทมีแผนขยายสาขาเพิ่มทั้งสิ้น 4 แห่ง และรีโนเวต 1 แห่ง โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ สีลม คอมเพล็กซ์,เดอะ มาร์เก็ต, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ และรีโนเวต 1 แห่งที่เซ็นทรัลพระราม 9 และปลายปีจะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่งที่เซ็นทรัล เวสต์เกต โดยใช้งบลงทุนราว 50 ล้านบาท ก่อนทยอยรีโนเวตสาขาอื่นๆที่มีอยู่ทั้ง 17 แห่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความสดใหม่ ทันสมัย รองรับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ขณะที่แบรนด์นาเบโซะที่มีอยู่ 2 แห่งในปัจจุบันจะยังไม่มีแผนการขยายสาขาแต่อย่างใด เนื่องจากต้องการโฟกัสร้านชาบูหม้อไฟ

ชาบูหม้อไฟ 2 หมื่นล้าน ระอุ ‘โม โมพาราไดซ์’ เปิดเกมชิงแชร์

ขณะที่แผนงานต่อจากนี้จะยังคงให้ความสำคัญกับการสื่อสารแบรนด์เพื่อสร้างการเข้าถึงไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 25-35 ปี ผ่านงบประมาณด้านการตลาดราว 3% ของยอดขาย ล่าสุดบริษัทได้จับมือกับซีพีเอฟในการใช้ ไข่ไก่สดปลอดสาร CP Selection Cage Free Egg เข้ามาเสิร์ฟในร้านต่อจากหมู และไก่เบญจา เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่นอกจากจะใส่ใจคุณภาพสินค้า แต่ยังเลือกอาหารที่มาจากกระบวนการผลิตอย่างรับผิดชอบ อย่างไข่ไก่ที่มาจากกระบวนการเลี้ยงมีสวัสดิภาพสัตว์สูง(HighWelfare Products)อีกด้วย

“การตลาดคือสิ่งจำเป็นในยุคปัจจุบัน เพราะว่าต่อให้เรามีของดีแค่ไหนแต่จากการแข่งขันที่สูงขึ้นหากเราไม่สื่อสารหรือพูดออกไปลูกค้าก็จะไม่รู้ว่ามีแบรนด์ของเราอยู่ ทำให้เราเริ่มทำตลาดจนเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากอยู่ในตลาดมากว่า 11 ปี ทั้งนี้เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดที่มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี โดยแนวโน้มของการขยายของบริษัทนับจากนี้ยังจะให้ความสำคัญกับการขยายสาขาในเขตกรุงเทพฯเป็นหลัก เนื่องจากยังมีโอกาสทางการเติบโตอยู่จำนวนมากและสาขาของทางร้านก็ยังไม่ได้ครอบคลุมทกพื้นที่”

 

พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัว “โม โม พาราไดซ์ คาเฟ่” หรือโม โม พรีเมี่ยม ในรูปแบบคาเฟ่ สำหรับคนกลุ่มเป้าหมายที่มารับประทานคนเดียว โดยนำร่องสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เน้นจำหน่ายอาหารในสไตล์พรีเมียมเซตสามารถนั่งรับประทานคนเดียวได้

ชาบูหม้อไฟ 2 หมื่นล้าน ระอุ ‘โม โมพาราไดซ์’ เปิดเกมชิงแชร์

อย่างไรก็ตาม บริษัทวางเป้าหมายที่จะมีรายได้ 800 ล้านบาทในปีนี้ พร้อมกับครองส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเป็น 3-4% จากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 560 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมตลาดชาบูหม้อไฟ เติบโตปีละไม่ตํ่ากว่า 10% มีมูลค่าตลาดรวมราว 2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผู้เล่นท้องถิ่นและแบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ 

หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3490  วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2562

ชาบูหม้อไฟ 2 หมื่นล้าน ระอุ ‘โม โมพาราไดซ์’ เปิดเกมชิงแชร์