JIM THOMPSON (2)

11 ก.ค. 2562 | 11:40 น.

นอกจาก “คุณจิม” จะโชคดีเจอชุมชนบ้านครัวที่รักษาวิชาการทอผ้าที่สะสมกันมาเป็นเวลากว่าร้อยปี MR. JIM THOMPSON ยังใช้เวลาในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่สะสมผ้าเก่าหายาก

ผ้าไหมบ้านครัวโดดเด่นต้องตาต้องใจคุณสมบัติ เนื้อผ้าแน่น เงางาม สีสันสวยสด ที่สำคัญยังคงเอกลักษณ์ทอมือแบบดั้งเดิม

ว่ากันว่า คุณจิมมาเที่ยวบ้านเพื่อนใกล้ชุมชน “บ้านครัว” ได้ยินเสียงกี่ทอผ้า จึงเดินเข้าไปดู และประทับใจกับผลงานผ้าไหมของชาวบ้าน

JIM THOMPSON (2)

อีกตำนานมีว่า ด้วยการศึกษาเรื่องราวของ “ผ้าไหมหายาก” ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์คุณจิมได้ตามต่อไปยังร้านขายผ้าไหมเด่นๆ และได้รู้จักโรงงานศิลปหัตถกรรม “ชุมชนบ้านครัว” ชาวบ้านแขกจามที่อพยพหนีสงครามจากกัมพูชามาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การทอผ้าของชาวบ้านชุมชนนี้ เดิมทอไว้ใช้สอยในครัวเรือน ทอโสร่ง ผ้าขาวม้ามาตั้งแต่ก่อนจะอพยพมาพึ่งความร่มเย็นของแผ่นดินไทย เมื่อประมาณปี 2430

เมื่อเริ่มต้นเข้ามาปักหลักพักพิงที่ประเทศไทย MR. JIM THOMPSON สะสมผ้าไหมจากที่ต่างๆ ผ้าที่สะสมมากหน่อยส่วนใหญ่จะยาวหนึ่งหลาครึ่ง ซึ่งเป็นผ้าที่จะเป็นโสร่งของผู้หญิง หรือเป็นผ้าขาวม้าของผู้ชาย

ในวัยอายุ 41 ปี MR. JIM THOMPSON แบกกระเป๋าเดินทาง 2-3 ใบ ใส่ “ผ้าไหมไทย” เต็มแน่นนั่งเครื่องบินกลับไปถิ่นเก่า NEW YORK เมืองที่โด่งดังทั่วโลกในด้านการเป็น “ผู้นำแฟชั่น” และเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าหรูหรา ราคาแพง ขณะนั้น (แม้ในขณะนี้) ในช่วงหลังสงครามโลกใหม่ๆ

ด้วย CONNECTION ที่มีกับเพื่อนเก่าสมัยเป็นหนุ่มปาร์ตี้เมือง NEW YORK คุณจิมได้รู้จักกับ MRS. EDNA WOOLMAN CHASE บรรณาธิการของ VOGUE นิตยสารโด่งดังด้านแฟชั่น และมีโอกาสได้โชว์ “ผ้าไหมไทยบ้านครัว” แผ่กระจายเต็มโต๊ะในห้อง MRS. EDNA ผู้สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับ “การเกิด” ในโลกแฟชั่น

JIM THOMPSON (2)

ทันทีที่ได้พบ “ผ้าไหม ไทยแรกแย้ม” MRS. EDNA ตะลึงกับสีสันที่เปล่งประกาย ก่อนจะสั่งเลขานุการส่วนตัวด้วยเสียงที่ตื่นเต้นว่า

ห้ามทุกคนใน STAFF ของเธอออกจาก OFFICE วันนี้ ก่อนจะได้มาชื่นชม “สิ่งค้นพบมหัศจรรย์” จากโพ้นทะเล

แน่นอน บรรณาธิการหญิงเก่งของ VOGUE สั่งการต่อ ขอเก็บผ้าไหมไทยที่นำมาทั้งหมดไว้ให้เธอ ได้โชว์พรรคพวกอีก 2-3 อาทิตย์ ที่สำคัญมากๆ คือ MRS. EDNA ได้ชวนให้ VALENTINA นักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังขณะนั้นได้ทดลองซื้อผ้าไหมไทยไปตัดชุด

THAI SILK HAS ARRIVED (AT LAST) ใน OFFICE ของ VOGUE และก้าวสำคัญต่อมาคือ ภาพของ VALENTINA ที่ใส่ชุด THAI SILK ลงพิมพ์หราในนิตยสาร VOGUE

 

ผ้าไหมไทยเกิดแล้วในเวทีสากล

แต่การจะทำงานต่อและผลิตจำนวนมากในเชิงอุตสาหกรรมและการสื่อสารกับตลาดโลกไม่ได้ง่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของ MR. JIM THOMPSON

ได้ใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท THAI SILK COMPANY, LTD. โดยมีเพื่อนคนสำคัญจาก CALIFORNIA MR. GEORGE BARRIE เข้ามาถือหุ้นด้วย และผู้ถือหุ้นรายย่อยอีกหลายคน ที่มีความศรัทธาในธุรกิจใหม่ที่ดูเสี่ยงไม่น้อย (หุ้นขณะนั้นราคา 50 เหรียญต่อหุ้น)

ราคาหุ้นบริษัท THAI SILK ของ JIM THOMPSON ในอีก 20 ปีต่อมาขึ้นไปถึง 860 เหรียญ

JIM THOMPSON (2)

MR. JIM THOMPSON แม้ไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็เป็น PR MAN ของบริษัทนี้ไปโดยอัตโนมัติ สื่อต่างๆ ขนานนามเขาว่า “SILK KING”

คนจะซื้อผ้าไหมไทยที่ร้านก็ต้องบอกว่า จะไปร้าน JIM THOMPSON อันที่จริงต้องชื่นชม “คุณจิม” ที่ให้เกียรติประเทศไทย บ้านหลังที่สองของเขาโดยตลอด “คุณจิม” จะให้สัมภาษณ์ว่า ธุรกิจนี้เป็นของ “คนไทย” ไม่ใช่ของ “ฝรั่ง”

ตอนนี้ศิลปหัตถกรรมชาวบ้านเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ผ้าลูกไม้ที่ ST. GALLEN ของประเทศสวิส ผ้าไหมจีนที่หังโจว ผ้าไหมไทยที่ปักธงชัย ผ้าฝ้ายทอที่ชนบท ฯลฯ

คิดถึง MR. JIM THOMPSON ครับ 

 

คอลัมน์ | กฤษณ์ ศิรประภาศิริ

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3486 ระหว่างวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2562