“ชุติมา”ลงนามคุมราคายา มีผล 29 พ.ค.ใครฝ่าฝืนโทษหนัก!

30 พ.ค. 2562 | 06:34 น.

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา นางสาว ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ลงนามประกาศกกร. ฉบับที่ 52 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแจ้งราคาการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรคเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อดูแลประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล

 

                                        “ชุติมา”ลงนามคุมราคายา มีผล 29 พ.ค.ใครฝ่าฝืนโทษหนัก!

มาตรการดังกล่าว มีหลักการสำคัญ 3 เรื่อง โดยได้กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายยาเวชภัณฑ์ ค่าบริการฯ ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) จำนวน 3,892 รายการ และในอนาคตจะขยายผลให้ครอบคลุมรายการยาตามรหัสบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT) ซึ่งปัจจุบันมียาอยู่ในระบบกว่า 32,000 รายการ บัญชีเวชภัณฑ์ 868 รายการ และค่าบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ

“กรณีโรงพยาบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงราคายา ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคาภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายตามที่ประกาศกำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะแจ้ง ทั้งนี้กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแสดงข้อมูลเปรียบเทียบราคาจำหน่ายยา ภายใน 45 วัน โดยจัดทำไว้อย่างเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก และในการจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้โรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า”

“ชุติมา”ลงนามคุมราคายา มีผล 29 พ.ค.ใครฝ่าฝืนโทษหนัก!

                                                      วิชัย  โภชนกิจ

 

สำหรับใบสั่งยาอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยาชื่อทางการค้ารูปแบบยาส่วนใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยกรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น หรือการคิดค่าบริการรักษาพยาบาลสูงเกินสมควร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา15 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ. 2542 ซึ่งหากเห็นว่ามีการคิดราคาสูงเกินสมควรจริงจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า กรมการค้าภายในจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมที่เกี่ยวข้องไปจัดทำบัญชีรายละเอียดการดูแลค่ารักษาพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสากลต่อไป