EA ท้าชน "ปตท.-กัลฟ์" ผนึก 'ไชน่าเรลเวย์' ชิง "แหลมฉบัง" 8.4 หมื่นล้าน

07 เม.ย. 2562 | 12:47 น.


ชิงดำท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 วงเงิน 8.4 หมื่นล้าน เดือด "นทลิน กรุ๊ป" ควง EA ดึง "ไชน่า เรลเวย์" เสริมแกร่ง พร้อมนำเทคโนโลยีทันสมัยบริหารท่าเรือ ด้าน "กลุ่ม ปตท." ผนึก "กัลฟ์-ไชน่า ฮาร์เบอร์" ต่อยอดธุรกิจในเครือ

การประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่ากว่า 8.4 หมื่นล้านบาท เป็นอีกหนึ่งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลเร่งผลักดันตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมของกระทรวงคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงโครงการในพื้นที่อีอีซี เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น มีเอกชนสนใจซื้อซองเอกสารประกวดราคามากถึง 35 ราย และมียื่นซองข้อเสนอ จำนวน 2 กลุ่ม ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างคัดเลือกหาผู้ร่วมลงทุน

ร.ท.ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการ ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างการพิจารณาในซองที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องด้านคุณสมบัติของผู้ยื่นประมูล เนื่องจากยังมีความไม่ชัดเจนว่า ทั้ง 2 บริษัทของจีน เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ โดยอยู่ระหว่างการรอคำตอบจากสถานทูตจีนอยู่ เพราะหากเป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องทำหนังสือยืนยันการสละความคุ้มกันในการขึ้นศาลจีนมาใช้ศาลไทยแทน หากชัดเจนตรงนี้แล้ว ถึงจะไปพิจารณาซองที่ 3 ด้านเทคนิค โดยจะมีการเร่งพิจารณาและให้ได้ข้อยุติหลังสงกรานต์นี้ เพื่อจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป ในวันที่ 29 เม.ย. นี้



⁍ กลุ่มนทลินควงจีนสู้ศึก

นายสุรพล มีเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท นทลิน (NATHALIN GROUP) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความพร้อมในการร่วมแข่งประมูลโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานในธุรกิจหลัก หรือ มารีนไทม์โลจิสติกส์ ซึ่งเป็น Core Business และยังมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจ รวมไปถึงการศึกษาและพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและผลตอบแทนต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกท่านสูงสุด รวมไปถึงมีการลงทุนอย่างรอบคอบและเหมาะสมในเมกะโปรเจ็กต์ที่มีมูลค่าสูงในครั้งนี้

การเข้าร่วมประมูลของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี สมาชิกในกลุ่มประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด (ถือหุ้นสัดส่วน 35%), บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) (10%), บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด (25%) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด( มหาชน), บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด (10%) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (20%)


EA ท้าชน "ปตท.-กัลฟ์" ผนึก 'ไชน่าเรลเวย์' ชิง "แหลมฉบัง" 8.4 หมื่นล้าน


สำหรับ กลุ่มพริมา มารีน เป็นผู้นำในด้านการขนส่งพลังงานและเป็นผู้ให้บริการด้านกิจการมารีนไทม์โลจิสติกส์ของไทย ดำเนินธุรกิจใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเรือขนส่งผลิตภัณฑ์นํ้ามันสำเร็จรูปในประเทศและระหว่างประเทศ ธุรกิจเรือจัดเก็บและผสมนํ้ามัน ธุรกิจเรือขนส่งสินค้าที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และธุรกิจบริหารจัดการเรือ โดยปี 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทนี้มีเรือรวมทุกประเภทให้บริการทั้งสิ้น 36 ลำ มีระวางบรรทุกมากกว่า 2 ล้านเดตเวตตัน และยังมีรายได้จากการให้บริการ 4,480 ล้านบาท กำไรสุทธิ 746 ล้านบาท

"นทลินกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถผ่านการพิจารณาไปสู่ขั้นสุดท้ายได้ ซึ่ง พริมา มารีน และนทลินกรุ๊ป ถือได้ว่า ศักยภาพการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งอย่างมาก อีกทั้งพร้อมใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ได้ทันที มีกองเรือบรรทุกนํ้ามันใหญ่ที่สุดในไทย ไซต์ใหญ่ของโลกมากถึง 8 ลำ มีกองเรือขนส่ง 40 ลำ มีพาร์ตเนอร์จากในกลุ่มสมาคมเจ้าของเรือไทยที่ทำธุรกิจท่าเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ อย่าง กลุ่มโหงวฮก มีกลุ่มบริษัท TIPs เชี่ยวชาญด้านบริหารท่าเรือมานาน พร้อมกับมีสายเดินเรือทางญี่ปุ่นและสิงคโปร์หลายรายเข้ามาร่วม จึงมีทั้งสายเรือและลูกค้าจะเข้ามาใช้บริการท่าเรือแหลมฉบังได้ครบวงจรและมากกว่าคู่แข่ง"

ด้วยประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจที่ดำเนินการมานานกว่า 30 ปี ครบครันด้วยพันธมิตรมืออาชีพที่พร้อมลงทุน รวมทั้งเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างและทันสมัยด้วยเทคโนโลยีระดับโลก จึงมั่นใจในการประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ในครั้งนี้



⁍ ปตท. ต่อยอดด้านโลจิสติกส์

ขณะความพร้อมอีกซีก คือ กลุ่ม ปตท. ภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ ปตท. เข้าร่วมประมูลท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจด้านโลจิสติกส์มีการเติบโตมากขึ้น จากปัจจุบันที่กลุ่มมีประสบการณ์ในการบริหารท่าเรืออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือไออาร์พีซี ท่าเรือไทยออยล์ และท่าเรือพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล ซึ่งมีการขนส่งสินค้าเหลวและปิโตรเคมีผ่านท่าเรือเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และยังเป็นการรองรับการใช้ท่าเรือของกลุ่มในอนาคตได้มากขึ้น ประกอบกับกลุ่ม ปตท. เอง มีการส่งออกและนำเข้าสินค้าวัตถุดิบผ่านตู้คอนเทรนเนอร์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ท่าเรือแหลมฉบังจะเป็นอีกส่วนที่จะมารองรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าของกลุ่มในอนาคตด้วย



⁍ วงในให้กลุ่มจีพีซีเป็นต่อ

แหล่งข่าวจากวงการท่าเรือ เปิดเผยว่า หากพิจารณาความได้เปรียบการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มองว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี น่าจะมีความได้เปรียบด้านความแข็งแกร่งด้านการเงินมากกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ประกอบกับได้แรงหนุนจาก บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับเหมาด้านวิศวกรรมและเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ไชน่าคอมมิว นิเคชั่นส์ คอนสตรัคชั่นคอมปานี (CCCC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากจีน ให้บริการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น วิศวกรรมทางทะเล การขุดลอก ถมถนน สะพาน ทางรถไฟ และสนามบิน และเป็นบริษัทขุดลอกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ดำเนินโครงการในเอเชียแอฟริกาและยุโรป

เมื่อเทียบกับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีที่เป็นกลุ่มทุนขนาดเล็ก และดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นหลัก จะมีเพียง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ของจีนเท่านั้น ที่พอจะมีเงินทุนหนามาใช้ขับเคลื่อนโครงการ ดังนั้น เมื่อเทียบกลุ่มนักลงทุนของไทยทางกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี จึงมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีค่อนข้างมาก


EA ท้าชน "ปตท.-กัลฟ์" ผนึก 'ไชน่าเรลเวย์' ชิง "แหลมฉบัง" 8.4 หมื่นล้าน


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,459 วันที่ 7 - 10 เม.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"2 บิ๊กทุน" ชิง "แหลมฉบัง เฟส 3" จับตา "กัลฟ์-ปตท." คว้าทั้ง 2 ท่าเรืออีอีซี
"ทุนใหญ่" ลุ้นเคาะ 6.7 แสนล้าน 'อีอีซี'