กสทช. จ่อเก็บภาษี OTT

04 เม.ย. 2562 | 04:09 น.


กสทช. เสนอแนวทางจัดเก็บรายได้ OTT โดยคำนวณจากการปริมาณทราฟฟิกที่ใช้งาน เนื่องจากเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดงาน 5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน ณ ห้องประชุม อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ 5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน ในงานนี้ โดยสรุปสาระสำคัญได้ 3 ประเด็น ถึงเหตุผลที่ทำไมเราต้องทำให้ 5G เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อปลุกไทยให้เป็นที่ 1 ในอาเซียน

 

กสทช. จ่อเก็บภาษี OTT

 

ประเด็นแรก ดูจากการลงทุนของต่างประเทศ ที่มาลงทุนของประเทศในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2553 จะพบว่า การลงทุนของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่มาลงทุนในอาเซียน ประเทศไทยมีสถิติที่ต่ำกว่าประเทศอื่นมาก แต่เริ่มมามีเม็ดเงินลงทุนที่สูงขึ้นในปี 2559 – 2561 แต่เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับประเทศอื่น ยังพบว่า มีอัตราส่วนที่น้อยกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ดังนั้น ถ้าเราไม่ทำ 5G ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็ว เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ก็จะมีผลต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น หากเราไม่ทำ 5G โดยเร็ว จะทำให้ประเทศไทยเป็นรองเวียดนามและอินโดนีเซียต่อไป ดังนั้น จึงเห็นว่า ประเทศไทยต้องทำ 5G ให้เกิดขึ้นเพื่อปลุกไทยให้เป็นที่ 1 ในอาเซียนให้ได้

ประเด็นที่ 2 เมื่อ 5G เกิดขึ้นแล้ว จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ภาคเกษตรกรรมประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาท จะมีสมาร์ทฟาร์มมิ่งเกิดขึ้น ภาคการขนส่งประมาณ 1.2 แสนกว่าล้านบาท ภาคการผลิต ซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญ จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6 แสนกว่าล้านบาท และภาคที่สำคัญอีกภาคหนึ่ง คือ ภาคสาธารณสุข จะสามารถลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อที่จะสนับสนุนเรื่องค่ารักษาพยาบาลต่ำลงได้ เฉลี่ยปีหนึ่งประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

กสทช. จ่อเก็บภาษี OTT

 

โดยสังคมไทยในปี 2565 จะเข้าสู่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยประเทศจะประชากรมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ หากประเทศไทยยังไม่มี SMART HOSPITAL เกิดขึ้น จะทำให้การรักษาในประเทศไทยยังคงใช้ระบบเดิมที่ประชาชนต้องเดินทางไปหาหมอเพื่อรักษาที่โรงพยาบาล โดยถ้ามี 5G 4 โรค คือ โรคตา โรคความดัน โรคผิวหนัง และโรคเบาหวานนั้น ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่สามารถรับการตรวจ และคำแนะนำ การรักษา ผ่านระบบ SMART HOSPITAL โดยใช้เทคโนโลยี 5G ได้เลย นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะต้องทำ 5G ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย นอกจากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว ยังรองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงลดต้นทุนด้านสาธารณสุขของประเทศด้วย

ประเด็นที่ 3 เมื่อ 5G เกิดขึ้น มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการใช้งานดาต้าเพิ่มมากขึ้นถึงประมาณ 40 เท่าของการใช้งานในระบบ 3G และ 4G ซึ่งในปัจจุบัน พบว่า การใช้งานของดาต้า 3G และ 4G เฉลี่ยของปี 2561 มีการใช้งานดาต้าประมาณ 6 ล้านเทราไบต์ต่อปี ประเด็นที่ท้าทาย คือ รัฐจะดำเนินการอย่างไรถึงจะจัดเก็บเงินรายได้จากการใช้งานดังกล่าว ผมจึงเสนอหลักการว่า หากรัฐจะจัดเก็บเงินรายได้จากการใช้งานปริมาณทราฟฟิกที่นำเข้ามาใช้งาน เพราะถือว่าเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งต้องมีการพัฒนาและบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา หลักการดังกล่าว คือ กสทช. จะให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศจัดทำรายละเอียดของการใช้งานทราฟฟิกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ว่า มีปริมาณหรือจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จะยกร่างหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการใช้งานทราฟฟิกที่นำมาใช้งานในประเทศ ในระดับใดหรือจำนวนเท่าใดที่จะใช้งานได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ขนาดหรือจำนวนเท่าใดถึงจะกำหนดว่าเป็นประเภทธุรกิจ ซึ่งในกรณีที่เป็นธุรกิจที่จะต้องกำหนดต่อไปว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ กสทช. จะกำหนดให้ผู้ที่นำเข้าทราฟฟิกในปริมาณมากจะต้องมาจ่ายค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ ทั้งนี้ จะต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน แต่ในทางตรงกันข้ามจะส่งผลดีต่อรายได้ของประเทศในภาพรวมต่อไป

 

กสทช. จ่อเก็บภาษี OTT