"BTS - ซีพี" เปิดศึกรอบใหม่! 'คีรี' ดึง 'บางกอกแอร์เวย์ส' ชิงอู่ตะเภา

18 มี.ค. 2562 | 12:59 น.

"BTS - ซีพี" เปิดศึกรอบใหม่! 'คีรี' ดึง 'บางกอกแอร์เวย์ส' ชิงอู่ตะเภา

ประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท แข่งเดือด! จับตา 21 มี.ค. "3 กลุ่มไทย-เทศ" จ่อยื่นประมูล 'ซีพี' จับมือ '
ฟราพอร์ท' จากเยอรมนี ชิง "กลุ่มบีเอสอาร์" ที่ให้ "บางกอกแอร์เวย์ส" เป็นแกนนำ พร้อมดึงสนามบินจากยุโรป-ญี่ปุ่นท้าชิง


ใกล้งวดเข้าไปทุกที สำหรับการยื่นซองประกวดราคาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในวันที่ 21 มี.ค. นี้ มูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท ที่จะมีรูปแบบ PPP รัฐจะลงทุนในส่วนของงานโยธา รันเวย์ที่ 2 และหอบังคับการบินหลังที่ 2 ส่วนเอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสารหลัง
ที่ 3, ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน, ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์, พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา, ศูนย์ธุรกิจการค้า โดยกองทัพเรือให้ระยะเวลาเอกชนดำเนินการและใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการได้เป็นระยะเวลา 50 ปี

"BTS - ซีพี" เปิดศึกรอบใหม่! 'คีรี' ดึง 'บางกอกแอร์เวย์ส' ชิงอู่ตะเภา

"3 กลุ่ม" ชิงเข้าร่วมประมูล

จากการสำรวจพบว่า จะมีผู้ประกอบการอย่างน้อย 3 ราย ที่จะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ, 2.กลุ่มบีเอสอาร์ และ 3.กลุ่ม Malaysia Airports Holding Berhad

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการสายการบิน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การรวมกลุ่มเพื่อเตรียมยื่นประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในวันที่ 21 มี.ค. นี้ มีความชัดเจนว่าจะเป็นการเปิดศึกการแข่งขันรอบใหม่ ระหว่างซีพีและบีทีเอสอีกระลอก ต่อจากการชิงประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะได้ข้อสรุปในวันที่ 19 มี.ค. นี้ ที่ซีพีจะได้โครงการนี้ไป เนื่องจากยอมถอนข้อเสนอในช่วงที่มีการเจรจาออกไป และมีความชัดเจนเรื่องของการปล่อยกู้จากสถาบันการเงินและการกู้เงินจากธนาคาร เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) ที่เป็นพันธมิตร

"BTS - ซีพี" เปิดศึกรอบใหม่! 'คีรี' ดึง 'บางกอกแอร์เวย์ส' ชิงอู่ตะเภา

การประมูลครั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด นอกจากจะจับมือกับพันธมิตรบางรายที่ยื่นประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้ว ได้ดึง บริษัท Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide (ฟราพอร์ท) ของประเทศเยอรมนี มาเข้าร่วมยื่นประมูลด้วย ซึ่ง 'ฟราพอร์ท' เป็นผู้บริหารท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต เป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป โดยหวังที่จะคว้าประมูลอีก 1 โครงการ เพื่อให้ทั้ง 2 โครงการ เอื้อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจซึ่งกันและกัน


⁍ บีเอสอาร์ให้ BA เป็นแกนนำ

ขณะที่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด นอกจากจะยื่นประมูลในนามกลุ่มบีเอสอาร์ ที่มีพันธมิตรอย่าง บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) มาลงทุนร่วมกันแล้ว ยังได้ดึง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA รวมถึงผู้บริหารสนามบินจากยุโรปและเอเชียมาร่วมลงทุนด้วย โดยการยื่นประมูลในครั้งนี้ ทางกลุ่มบีเอสอาร์ได้ให้ทาง BA เข้ามาเป็นแกนนำหลักในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เนื่องจากมองว่า มีความเชี่ยวชาญด้านเอวิเอชัน

"BTS - ซีพี" เปิดศึกรอบใหม่! 'คีรี' ดึง 'บางกอกแอร์เวย์ส' ชิงอู่ตะเภา

อีกกลุ่มที่แสดงความสนใจ คือ กลุ่ม Malaysia Airports Holding Berhad ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย แสดงท่าทีว่าสนใจและอยู่ระหว่างเจรจารวมกลุ่มกับคนไทยในการยื่นประมูลในครั้งนี้

ทั้งนี้ หลังการยื่นประกวดราคาในวันที่ 21 มี.ค. นี้ จะใช้เวลาอีกราว 1 สัปดาห์ ในการตรวจสอบคุณสมบัติ และคาดว่า โครงการนี้จะได้ผู้ชนะประมูลประมาณสิ้นเดือน เม.ย. หรือต้นเดือน พ.ค. นี้

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทจะเป็นผู้นำและพาร์ตเนอร์หลัก ๆ อีก 5-6 ราย เข้ามาร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เบื้องต้น คาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการ 50 ปี จะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ช่วงเริ่มต้นโครงการจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วนราว 30% หรือ ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 3 หมื่นล้านบาท และขณะนี้มีแหล่งเงินจากสถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนแล้ว
 

ดึงต่างชาติร่วมประมูล

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในเบื้องต้น กลุ่มบีเอสอาร์ยังเกาะกลุ่มกันร่วมประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภา และขณะนี้ อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรต่างชาติที่มีความชำนาญด้านสนามบินจากยุโรปและญี่ปุ่น จะทราบผลอย่างเป็นทางการ ไม่เกิน 20 มี.ค. นี้

โดยกลุ่มทุนจากยุโรปที่ซื้อซองประมูล เช่น บริษัท Vinci Airports และ ADP International จากฝรั่งเศส และ AviAlliance Gmbh จากเยอรมนี ขณะที่ กลุ่มทุนจากญี่ปุ่น เช่น Mitsui & Co., Ltd., บริษัท Sojitz Corporation บริษัท JALUX lnc. และ บริษัท AGP Corporation เป็นต้น

ส่วนซีพีจับมือกับพันธมิตรรายเดิมที่เป็นต่างชาติ เช่น China Railway Construction Corporation Limited, China Resources (Holdings) Company Limited จากจีน Japan Overseas Infrastruc-ture Investment Corporation for Trans- port & Urban Development จากญี่ปุ่น เป็นต้น

"BTS - ซีพี" เปิดศึกรอบใหม่! 'คีรี' ดึง 'บางกอกแอร์เวย์ส' ชิงอู่ตะเภา

⁍ ไฮสปีดฯ หนุนพันธมิตรซีพีโต

ด้าน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จับตาวันที่ 19 มี.ค. นี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะได้ข้อสรุปหรือไม่ หลังจากที่ทางกลุ่มซีพีได้เสนอเงื่อนไขเพิ่มเติม แต่ถูกปฏิเสธในบางเงื่อนไขใน 12 รายการ จากทั้งหมด 108 รายการ อาทิ การขยายเวลาสัญญาจาก 50 ปี เป็น 99 ปี และการรับประกันอัตราผลตอบแทน IRR ที่ 6.75% เป็นต้น

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ในกรณีที่การเจรจาสำเร็จข้อดี คือ CK และ ITD ที่เป็นพันธมิตร มีโอกาสจะได้งานโยธารายละ 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ผลกระทบ คือ CK จะเพิ่มงานก่อสร้างในมือ (แบ็กล็อก) เป็นเท่าตัว จากปัจจุบันที่มี 4.97 หมื่นล้านบาท ณ ปลายปี 2561 อย่างไรก็ตาม กรณีที่กลุ่มซีพีไม่ได้โครงการนี้จริง CK ก็ยังมีโอกาสในงานขนาดใหญ่ที่จะเปิดประมูลในช่วงปี 2562 ที่ 9 แสนล้านบาท เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท, สายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 1.01 แสนล้านบาท และรถไฟทางคู่จีน-อุบลราชธานี 3.58 แสนล้านบาท เป็นต้น
 

……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,452 วันที่ 14 - 16 มี.ค. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ยืดเวลาประมูล 'อู่ตะเภา' ปลดล็อกข้อจำกัด ดึงเอกชนหลายรายลงแข่ง
'ซีพี' ผนึกทุนนอก! 'เยอรมนี-จีน' ลุยอู่ตะเภา-นิคมฯ-อีอีซี

"BTS - ซีพี" เปิดศึกรอบใหม่! 'คีรี' ดึง 'บางกอกแอร์เวย์ส' ชิงอู่ตะเภา