เปิดคำพิพากษาประวัติศาสตร์ยุบ ทษช.

07 มี.ค. 2562 | 12:18 น.

คำต่อคำมติเอกฉันท์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ชี้! เสนอแคนดิเนตนายกฯ เล็งผลสถาบันเบื้องสูงเข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง ส่งสถาบันฯ ถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทราม
 

เปิดคำพิพากษาประวัติศาสตร์ยุบ ทษช.
 
วันนี้ (7 มี.ค. 62) เวลา 15.00 น. องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายชัช ชลวร, นายปัญญา อุดชาชน, นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายนครินทร์ เมฆไตรัตน์ และนายบุญส่ง กุลบุปผา ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

นายนุรักษ์ กล่าวว่า วันนี้ศาลนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติคำร้องต่าง ๆ โดยได้แยกคำร้องออกเป็น 9 คำร้อง ซึ่งศาลมีมติยกคำร้องทั้งหมด เนื่องจากผู้ร้องต่าง ๆ ไม่ใช่คู่กรณีในคดี และได้มอบหมายให้นายนครินทร์และนายทวีเกียรติเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
 

เปิดคำพิพากษาประวัติศาสตร์ยุบ ทษช.

นายนครินทร์ กล่าวว่า ศาลได้กำหนดประเด็นแห่งคดีไว้ 3 ประเด็น โดยประเด็นแรกคดี มีเหตุให้ยุบพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่ 2 กรรมการบริหารพรรค จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ และ 3 ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบจะสามารถจดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี ได้หรือไม่

โดยประเด็นแรก ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญหมวด 1 ได้บัญญัติว่า พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าโดยกำเนิด ทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ 7 พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ระบุว่า "พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เป็นที่เคารพ ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง และควรอยู่เหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาซึ่งพระเดชและพระคุณย่อมอยู่ในวงที่จะถูกติเตียน อีกเหตุหนึ่งจะนำมาซึ่งความขมขื่น โดยในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ส่วนเจ้านายจะทะนุบำรุงประเทศ ก็ย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำและตำแหน่งในวิชาชีพ หลักการพื้นฐานดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์ร่วมของการสถาปนาระบอบการปกครองของไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแต่เริ่มแรกและเป็นฉันทานุมัติที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรให้การยอมรับปฏิบัติสืบต่อมา ว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงควรอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะการไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักเป็นฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และจะกระทบต่อความสมัครสมานระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร ที่เป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 8 สภาผู้แทนราษฎรจะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ทั้งฉบับ และไม่ได้มีการบัญญัติในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่ทำให้หลักการของรัฐธรรมนูญว่าด้วยสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นที่เคารพเหนือการติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมืองอันอาจกระทบต่อความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้างไป ดังปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 กรณี กกต. ออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งให้สำนักพระราชวังมีหน้าที่แจงเหตุที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิของพระบรมวงศานุวงศ์
 

เปิดคำพิพากษาประวัติศาสตร์ยุบ ทษช.

ต่อมา กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า บุคคลใดอยู่ในข่าย หรือ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแจ้งเหตุขัดข้องในการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับมีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องในทางใด ๆ ไม่ได้ ทรงอยู่เหนือการเมืองและดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ประกอบกับ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่เคยไปใช้สิทธิการเมือง หากกำหนดให้พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งและขัดต่อหลักความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไม่ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ตามพื้นฐานว่าด้วยการดำรงความเป็นกลางทางการเมือง สอดคล้องกับหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่ไม่ได้ทรงปกครอง อันเป็นหลักการตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่นานาอารยประเทศ ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของรัฐ กล่าวคือ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรม เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นของชาติ พระมหากษัตริย์ในฐานะพระประมุขของรัฐทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนการปกครองของไทยมีความแตกต่างจากการปกครองของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของรัฐอื่น ที่กษัตริย์ใช้อำนาจราชาธิปไตยสมบูรณ์ ควบคุมการใช้อำนาจการเมืองผ่านการแต่งตั้งบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร


ดังนั้น การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและในกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นในนามพรรคการเมืองเพื่อนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำย่อมเล็งเห็นผล ว่า จะทำให้ว่าการปกครองของไทยจะแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพที่สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย
 

เปิดคำพิพากษาประวัติศาสตร์ยุบ ทษช.

อนึ่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขอีกทั้งรัฐธรรมนูญได้ปกป้องและคุ้มครองสิทธิของปวงชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจนและกว้างขวาง ปรากฏชัดในข้อเท็จจริงที่มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีพรรคการเมืองส่งสมัคร ส.ส.แบบบัญชี 77 พรรค และมีพรรคการเมือง เสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาแต่งตั้งเป็นนายกฯ 44 พรรค อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญรับรองต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และต้องไม่ใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานการปกครอง และสั่นคลอนคติรากฐานการปกครองของไทยให้เสื่อมโทรมไป ด้วยเหตุเช่นนี้ ประชาธิปไตยของนานาอารยประเทศจึงบัญญัติให้มีกลไกป้องกันการปกครองจากการถูกบ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเกินขอบเขต ดังนั้น แม้พรรคไทยรักษาชาติจะมีสิทธิดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยสมบูรณ์ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่าการกระทำนั้น จะไม่เป็นการอาศัยสิทธิและเสรีภาพให้มีผลกะทบย้อนกลับมาทำลายหลักการพื้นฐานและคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสียเอง เพราะประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของไทยมั่นคงในสถานะมาแต่โบราณ โดยพระองค์จะทรงครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ทรงเคารพกฎหมายและโบราณราชประเพณี และทรงอยู่เหนือการเมือง ทั้งยังต้องระมัดระวังไม่ให้สถาบันถูกนำไปเป็นคู่แข่ง หรือ ฝักใฝ่ทางการเมือง เพราะหากถูกกระทำด้วยวิธีการใด ๆ สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันฯ ต้องจะสูญเสียไปก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์ให้อยู่เหนือการเมืองได้ ซึ่งถ้าปล่อยให้การณ์เป็นไปเช่นนั้น สถาบันฯ ก็จะไม่อยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยอีกต่อไป นั่นย่อมทำให้การปกครองของไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยจะต้องเสื่อมโทรมหรือถึงกับสูญสิ้นไป ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เป็นเช่นนั้น

นายทวีเกียรติ อ่านคำวินิจฉัยต่อไปว่า โบราณราชประเพณีแม้จะไม่มีบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรตามรัฐธรรมนูญ แต่พออนุมานความหมายเบื้องต้นได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองที่ยึดถือปฏิบัติมานาน จนได้รับการยอมรับ ยึดถือปฏิบัติ และสมควรได้รับการถนอมรักษาไว้ มิใช่ประเพณีการปกครองประเทศอื่น และประเพณีการปกครองของไทย หมายถึง การปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ประชาธิปไตยรูปแบบอื่น ทฤษฎีอื่น หรือ ลัทธิอื่น ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่สถาบันฯ ต้องอยู่เหนือการเมือง เป็นกลางทางการเมือง ไม่เปิดช่องเปิดโอกาส ให้สถาบันฯ ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ฝักใฝ่ทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้จะไม่มีบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ แต่ต้องนำโบราณราชประเพณีมาใช้บังคับด้วย

เมื่อ กกต. มีหลักฐานว่า พรรคการเมืองกระทำการใด ๆ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ให้เสนอศาลวินิจฉัยยุบพรรค โดยพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่มีความสำคัญต่อประเทศ มีส่วนในการกำหนดตัวบุคคลที่จะไปเป็นตัวแทนในฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร กรรมการบริหารพรรคเปรียบได้กับมันสมองของพรรค เป็นผู้ใช้ดุลพินิจตัดสินและกระทำการใด ๆ แทนพรรคการเมือง ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมือง จึงต้องรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจที่ตนบริหารจัดการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคง ดำรงอยู่ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปของประเทศ

"ถ้าพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการเมืองและการปกครอง พรรคการเมืองนั้น รวมทั้ง กก.บห. ย่อมต้องถูกลงโทษตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง จะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ ความเห็นความเชื่อของตนมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้นิยามศัพท์ คำว่า "ล้มล้าง" หรือเป็น "ปฏิปักษ์" ไว้แต่ทั้ง 2 คำ ก็เป็นภาษาไทยธรรมดา มีความหมาย และความเข้าใจตามที่ใช้กันทั่วไป โดยศาลเห็นว่า คำว่า "ล้มล้าง" หมายถึง ทำลายล้างผลาญไม่ให้ธำรงอยู่ ส่วนคำว่า "ปฏิปักษ์" ไม่จำเป็นต้องรุนแรง ถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรู เพียงแค่เป็นการขัดขวางไม่ให้เจริญก้าวหน้า หรือ เซาะกร่อน บ่อนทำลายจนเกิดความชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรือ อ่อนแอลง ก็เข้าข่ายการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว"

ส่วนประเด็นเรื่องเจตนาในมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเมือง บัญญัติชัดเจนว่าเพียงแค่ "อาจเป็นปฏิปักษ์" ก็ต้องห้ามแล้ว ไม่ต้องรอให้ผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้น เพื่อเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรง เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้ ลุกลามขยายไป จนเป็น "มหันต์ภัย" ที่ไม่อาจต้านทานได้ อนึ่ง การกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์นั้นเป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัย ไม่ขึ้นกับเจตนาหรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำ แต่ต้องดูตามพฤติการณ์ของพฤติกรรมนั้น ๆ ตามความคิดของวิญญูชน หรือคนทั่วไป เห็นว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ เทียบได้กับกรณีหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา ข้อความใดทำให้ผู้อื่นถูกเกลียดชัง ดูหมิ่น เสื่อมเสียก็พิจารณาจากความรับรู้ ความรู้สึก ความเข้าใจในถ้อยคำนั้น ๆ

เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำโดยรู้สำนึก และสมัครใจอย่างแท้จริง กก.บห. ย่อมรู้ดีว่า รู้ดีว่าทูลกระหม่อมเป็นพระราชธิดา องค์ใหญ่ และเป็นเชษฐภคินี แม้จะถวายบังคมลาจากฐานันดรศักดิ์ แต่ยังคงดำรงเป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชน คนทั่วไปรู้สึกได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ให้ปรากฏผลเหมือนฝักใฝ่ทางการเมืองและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตยฯ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียฐานะที่ต้องอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามเป็นเหตุให้เข้าข่ายเป็นกากระทำเป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครอง ตามมาตรา 92 จึงมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง
 

เปิดคำพิพากษาประวัติศาสตร์ยุบ ทษช.

ประเด็นที่ 2 กรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคสองหรือไม่ ศาลมีมติ 6 ต่อ 3 เห็นว่า ตามกฎหมาย กำหนดว่า เมื่อศาลฯ ไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยุบพรรค จึงชอบที่ศาลจะเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. 2562 แต่มีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเพิกถอนสิทธิสมัครแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาเท่าใด เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องพิจารณาให้ได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรกับความร้ายแรงกับโทษ เมื่อพิจารณาจากการกระทำของผู้ถูกร้อง ซึ่งกระทำเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการได้มา ซึ่งรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่เกิดความเสียหายร้ายแรง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความสำนึกของ กก.บห. ที่น้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันที เมื่อรับทราบแสดงให้เห็นว่า ยังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ 10 ปี ตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

เปิดคำพิพากษาประวัติศาสตร์ยุบ ทษช.

ประเด็นที่ 3 ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง กก.บห. ของพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ได้หรือไม่ ศาลฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า กฎหมายไม่ให้ศาลพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อศาลมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองประกาศคำสั่งยุบพรรคนั้น และห้ามบุคคลใด ใช้ชื่อย่อ หรือภาพพรรคการเมืองซ้ำ และห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยเป็นกก.บห.พรรคที่ถูกยุบไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค

เปิดคำพิพากษาประวัติศาสตร์ยุบ ทษช.