ลุ้นบาทแข็งยาวถึงกลางปีแบรนด์เนม-แฟชั่นหั่นราคา

25 ก.พ. 2562 | 06:41 น.
ลุ้นเงินบาทแข็งค่ายาวต่อเนื่องถึงกลางปี ส่งอานิสงส์ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร และเอสเอ็มอี ขณะที่กลุ่มแฟชั่นเสื้อผ้า แบรนด์เนม ไร้สัญญาณปรับราคาสินค้าลดลง

สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าที่ต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ที่เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ในทางตรงข้ามผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศย่อมได้อานิสงส์ จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากขึ้น โอกาสที่สินค้าต่างๆ จะลดราคาลง ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน

นายรอนนี่ โกรเวอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รอนนี่ อินเตอร์-เทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากต่างประเทศ อาทิ Knot ,Daniel Wellington, We-wood, Victoria, See By Chloe, Calvin Klein Jeans, Diadora, Hey Dude และ  Knott เป็นต้น เปิด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในช่วงนี้แม้ค่าเงินบาทจะมีผลต่อกลุ่มธุรกิจนำเข้าก็จริง แต่ต้องยอมรับว่ายังมีผลไม่มาก เนื่องจากการแข็งตัวขึ้นของค่าเงินบาทไม่ได้มีการแข็งตัวขึ้นมากจนเห็นได้ชัดหรือมีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงมาก ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นในช่วงนี้มองว่าเป็นกลุ่มผู้นำเข้าชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ไปใช้ผลิตเป็นสินค้าในโรงงานต่างๆ ภายในประเทศมากกว่าที่จะได้รับประโยชน์

“มองว่ากลุ่มโรงงานการผลิตที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งตัวมากที่สุด เพราะว่ามีการนำเข้ามาจำนวนมากและต่อเนื่องเพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งการแข็งตัวแม้จะแค่ .50 บาท หรือแค่ 1 ดอลลาร์ ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับการนำเข้าจำนวนมากในการผลิต แต่หากถามว่าในกลุ่มแฟชั่นนำเข้านั้นได้รับผลดีหรือไม่แน่นอนว่าก็ย่อมเป็นผลดีแต่ไม่หวือหวา”

mp32-3447-a อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด มองว่าหากค่าเงินบาทแข็งตัวมากขึ้นกว่านี้ในระยะยาวแน่นอนว่าอาจจะมีผลต่อกลุ่มธุรกิจแฟชั่นในไทย ทำให้โอกาสที่ราคาสินค้าจะลดลง แต่ทั้งการแข่งขันก็จะสูงขึ้น ผู้เล่นแต่ละรายจะงัดกลยุทธ์มาแข่งกัน จำนวนผู้นำเข้าที่อาจจะมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่ผ่านมาเรื่องค่าเงินบาทแข็งตัวยังไม่ได้กระทบหรือเห็นผลชัดเจนในกลุ่มธุรกิจแฟชั่น ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งตัวในระดับที่มากขึ้นเมื่อเทียบอัตราแลกเปลี่ยน ถึงจะสามารถส่งแรงกระเพื่อมให้กลุ่มแฟชั่นมีมูฟเมนต์ที่เห็นได้ชัด นั่นเองจะเห็นการนำเข้า หรือมิติการแข่งขันใหม่ๆ ในแวดวงแฟชั่นนำเข้า แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าค่าเงินบาทจะไม่มีทางแข็งตัวขึ้นไปจนถึงระดับนั้นอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศคงต้องมีการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอยู่แล้ว

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503 ด้านนางสาวภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหาร เซ็นทรัลฟู้ด ฮอลล์ และ ท็อปส์ กล่าวว่า สินค้านำเข้าที่วางจำหน่ายในร้านค้าปลีก จะมาจาก 2 ส่วนคือ สินค้าที่บริษัทนำเข้าโดยตรง และสินค้าที่นำเข้าโดยซัพพลายเออร์ ซึ่งหากซัพพลายเออร์ไม่ปรับขึ้นราคาสินค้า รีเทลก็จะไม่ปรับขึ้นราคาเช่นกัน ขณะที่การนำเข้าโดยตรง ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทซีซันนัล เช่น ผลไม้ ฯลฯ ซึ่งราคาจะขึ้นลงตามดีมานด์ซัพพลาย ทั้งนี้หากค่าเงินบาทยังแข็งค่ายาวต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี อาจจะส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อย

บรรยากาศภายในห้างฯ_01

ขณะที่นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เชื่อว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้จะไม่ส่งผลกระทบเชิงบวกหรือลบต่อผู้ประกอบการนำเข้ารายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมมากนัก เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีการประกันความเสี่ยงจากการลงทุน แต่ที่จะได้อานิสงส์จะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมหรือกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงแต่อย่างใด ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งจะส่งผลดี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังหากเกิดกรณีค่าเงินบาทอ่อน กลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่โดยภาพรวมเชื่อว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวได้ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ

Pandora Shop at Central Rama3_2

“ณ วันนี้เชื่อว่าสินค้านำเข้าต่างๆ จะยังไม่ได้ประโยชน์ จากค่าเงินบาทที่แข็งตัวมากนัก เพราะสินค้าที่วางขายในปัจจุบันส่วนใหญ่ออร์เดอร์นำเข้าเมื่อ 6-8 เดือนก่อน และส่วนใหญ่จะประกันความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ดังนั้นเชื่อว่าแบรนด์เนมจะไม่ได้รับผลกระทบเชิงบวกมากนัก”

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,447 ระหว่างวันที่ 24 - 27 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว