เผยเดือนก.พ.การจ้างงานในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น

15 มี.ค. 2559 | 10:16 น.
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน  เปิดเผยถึงรายงานสถานการณ์และแนวโน้มด้านแรงงาน เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่า ภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน การจ้างงานลูกจ้างในระบบประกันสังคมเดือนกุมภาพันธ์ 2559  มีจำนวน 10,348,753 คน มีอัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.90  แต่ถือว่ายังชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 3.10 (YOY)

สำหรับการว่างงาน จากตัวเลขผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 123,087 คน มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YOY)  และเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 7.83 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา (MOM) ที่มีจำนวน 114,150 คน อยู่ที่ร้อยละ 19.02 อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้าง จากตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของกรมการจัดหางานเดือนกุมภาพันธ์ 2559  อยู่ที่ 7,915 คน มีอัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) แต่ถือว่ามีอัตราลดลงร้อยละ -14.14 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (MOM) มีจำนวน 9,218 คน  (มกราคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 18.03)  ถือว่าการเลิกจ้างร้อยละ 26.06 ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ อยู่ที่ร้อยละ 41.01 (ใช้ฐานข้อมูลปี 2548-2551)

สำหรับแนวโน้มการจ้างงาน ว่างงาน และการเลิกงาน การจ้างงานในภาพรวมในตลาดแรงงาน

อยู่ในภาวะปกติ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน โดยใช้ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในรูปแบบดัชนีผสม 13 ตัว ส่งสัญญาณชี้นำตลาดแรงงานด้านการจ้างงานในสภาพปกติอยู่ในเกณฑ์สีเขียว (ถ้าไม่เกิน 5 ตัวจะแสดงภาวะปกติ ซึ่งมีเพียงดัชนี 1 ตัว คือ มูลค่าการส่งออก ที่ชะลอตัว)

ในส่วนของแนวโน้มการว่างงานจากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการว่างงานผู้มีงานทำภาคเอกชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงสถานะปกติ ด้านแนวโน้มการเลิกจ้าง จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการแจ้งและตรวจพบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แสดงสถานะปกติ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้ให้ส่วนราชการในพื้นที่ทุกจังหวัดติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงาน โดยให้มีการรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานทุกเดือน รวมถึงจับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการเลิกกิจการ การเลิกโรงงานและความเคลื่อนไหวของการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิดพร้อมจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาและสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือแก้ไขได้ทันท่วงทีต่อไป