สจล. ประสานอาสาสมัคร "สม็อคแมน" จัดการฝุ่น

03 ก.พ. 2562 | 03:50 น.
สจล. เปิดศูนย์รวบรวมติดตามข้อมูลฝุ่นผ่านอาสาสมัคร "สม็อคแมน" (SMOG Man) นำเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศ ตรวจวัดและการบริหารจัดการคุณภาพอากาศพื้นที่สาธารณะใน กทม. แบบเรียลไทม์เฉพาะจุด หวั่นอาจทำลายสุขภาพเด็กและเยาวชน พร้อมนำร่องวางแผนรับมือฝุ่นในสถานศึกษา สร้างแบบจำลองระดับคุณภาพอากาศในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองในอนาคต

ภาพผลการพยากรณ์ทิศทางลมจาก Wmapp
นอกจากนี้ สจล. ยังได้เสนอแนวคิดผสานพลัง 3 ภาคส่วน ผู้ประกอบการ กรุงเทพฯ ภาครัฐ จัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ต้นเหตุ 1.ลดกิจกรรมฝุ่นในเขตมลพิษ 2.กทม. ตรวจเข้มยานพาหนะก่อฝุ่น และ 3.ภาษีฝุ่นหยุดมลพิษ เพื่อลดภาระสุขภาพประชาชน

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า ในขณะนี้ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในหลายพื้นที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานขั้นวิกฤติ จากสาเหตุหลักมาจากการปล่อยควันเสียจากเผาไหม้ของเครื่องยนต์และการก่อสร้าง เช่น ควันจากท่อไอเสียรถ การจราจรขนส่ง รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้าง ผนวกการคาดการณ์ของแอพพลิเคชัน "WMApp" นวัตกรรมพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป พบว่า สภาพอากาศปิดและลมสงบ ส่งผลให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น


ภาพการใช้อุปกรณ์วัดฝุ่น PM 2.5

ทั้งนี้ ได้เสนอแนวคิดผสาน 3 ภาคส่วน ผู้ประกอบการกรุงเทพฯ ภาครัฐ ร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านความร่วมมือจัดการต้นเหตุของปัญหา มีดังนี้

1.ลดกิจกรรมฝุ่นในเขตมลพิษ ประสานความร่วมมือผู้ประกอบการที่ดูแลโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในเขตพื้นที่มลพิษทางอากาศวิกฤติ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณโดยรอบน้อยที่สุด เช่น มีตาข่ายกันพื้นที่ก่อสร้างเพื่อดักจับฝุ่นละออง หรือ ชะลอโครงการก่อสร้างในช่วงที่สภาพอากาศมีความเสี่ยงที่จะเกิดค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ แนะให้ติดตามการคาดการณ์อย่างใกล้ชิดสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 จำเป็นต้องป้องกันตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ และควรหมั่นเปลี่ยนชิ้นใหม่ทุกวัน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในโรงเรียนต่าง ๆ ควรประกาศให้ยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต

2.กทม. ตรวจเข้มยานพาหนะก่อฝุ่น กรุงเทพมหานครควรจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบการทำงานตามพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่กำลังขึ้นอยู่หลายโครงการ เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศให้ไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด และดำเนินการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด รวมถึงการตรวจสภาพเครื่องยนต์ยานพาหนะขนส่งสาธารณะและยานพาหนะอื่น ๆ ในสังกัด กทม. ให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม


090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

การปรับแต่งรถให้ลดการปล่อยก๊าซพิษ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเก่าที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ อันเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทั้งนี้ การบริหารจัดการระบบยานพาหนะของ กทม. ควรใช้ระบบการเช่ารถมากกว่าการจัดซื้อ เนื่องจากมีความคุ้มค่าในเรื่องการบำรุงรักษา และมุ่งปรับเปลี่ยนยานพาหนะของ กทม. สู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเขตเมือง เนื่องจากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5


ภาพการใช้อุปกรณ์วัดฝุ่น PM 2.5 (4)

3.ภาษีฝุ่นหยุดมลพิษ เพื่อลดภาระสุขภาพประชาชน สำหรับภาพรวม รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการคัดกรองรถที่วิ่งบนท้องถนน โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกวดขันกับรถปล่อยมลพิษควันดำระหว่างการขับขี่ รวมถึงแนวคิดการใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมเข้ามาจูงใจให้ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อลดการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลกได้มีการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ผ่านการเก็บภาษีมลพิษและการอนุญาตปล่อยมลพิษ สำหรับประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนการเสนอมาตรการเรียกเก็บภาษีมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ สิ่งปฏิกูล และอีกหลายมาตรการที่มีแผนจะออกมาบังคับใช้ในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องยกปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติที่จำเป็นต้องรีบแก้ไขในเชิงรุก และไม่ผลักภาระของต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพไปให้ประชาชนต้องรับปัญหา


ภาพ สจล. แจกหน้ากากอนามัย N95

"สจล. โดยสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) และสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ (ISCI) ได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมติดตามข้อมูลมลพิษทางอากาศผ่านอาสาสมัครสม็อคแมน (SMOG Man) เพื่อตรวจวัดและการบริหารจัดการคุณภาพอากาศ ด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศแบบเรียลไทม์เฉพาะจุด เพิ่มความแม่นยำในการพัฒนาระบบการตรวจวัดฝุ่นละอองในแต่ละที่ ตั้งเป้านำร่องสถานศึกษาทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้ง การสร้างตัวแบบในการพัฒนาเมืองรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต รองรับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ซึ่งข้อมูลสถานการฝุ่นละลองจะได้รับการรายงานเรียลไทม์ผ่านเฟซบุ๊ก SCiRA KMITL โดยสถานศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปรับข้อมูลได้ตลอดเวลา สะท้อนบทบาทของ สจล. ที่ไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยเสมอมา" ดร. สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

595959859