ทิ้งดาวน์-รีเจ็กต์สูง! สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ-อสังหาฯ

20 ม.ค. 2562 | 01:13 น.
... ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างคึกคัก ผู้ประกอบการแห่เปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปี 2560-2561 มูลค่ารวมตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลทะลุ 4 แสนล้านบาท สอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี 3.9% และ 4.2% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน และปี 2562 นี้ ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีความกังวลอาจจะไม่ทะลุ 4% ผลพวงจากสงครามการค้าและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวน

ไม่เพียงแต่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่กระทบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปีนี้ยังมีปัจจัยมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เห็นถึงการแข่งขันด้านนี้ค่อนข้างสูง จนเกิดความกังวลหนี้เอ็นพีแอลจะเพิ่มสูงขึ้น

หลังผู้ประกอบการและผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้รับรู้ถึงปัจจัยลบที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เกิดปฏิกิริยาที่ต่างกันไป ในแง่ผู้ประกอบการได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์จัดแคมเปญพิเศษออกมาเร่งการตัดสินใจของลูกค้า ด้านลูกค้าหรือผู้ซื้อที่อยากจะมีบ้านก็เตรียมพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งไม่อาจจะรู้ได้ว่าจะผ่านการพิจารณาของธนาคารกี่มากน้อย ซึ่งปีที่ผ่านมา ยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับ 25-30%


MP25-3437-A

ฟาก "สถาบันการเงิน" หรือ "ธนาคารพาณิชย์" ยังคงยืนกราน! ร่วมกับพันธะมิตรโครงการในการจัดแคมเปญกระตุ้นการขายอย่างต่อเนื่อง ทั้งแคมเปญใหม่ที่เหมาะสมและตรงใจกับลูกค้า และมีบางส่วนที่ผู้ประกอบการจะช่วยเหลือลูกค้าในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะไตรมาส 1 ของปี 2562 ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องเร่งการโอนตามระยะเวลาที่โครงการกำหนด และก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะบังคับใช้มาตรการแอลทีวี โดยในส่วนของธนาคารปรับกระบวนการพิจารณาเครดิตให้ลูกค้าที่รวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังคงรักษาคุณภาพของลูกค้าในทุกกลุ่มผ่านกลไกการพิจารณา รายได้ และภาระเครดิตในมิติเชิงลึกของลูกค้า เพื่อรักษาคุณภาพสินเชื่อให้ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกัน "การดูแลเอ็นพีแอล" โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใช้สินเชื่อโครงการ ธนาคารจะติดตามทั้งในแง่ให้ความช่วยเหลือและที่ปรึกษาก่อนที่โครงการจะกลายเป็นเอ็นพีแอล

ถึงกระนั้นยังมีลูกค้าอีกบางส่วนที่มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ จึงไม่อยากจะโอน เลือกที่ขายดาวน์ เพื่อต้องการเงินที่ลงไปกลับคืนมา

จากการสัมภาษณ์ น.พ.บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ระบุว่า "ที่ผ่านมา มีคนทิ้งดาวน์และถูกปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างมาก ทำให้การโอนแต่ละค่ายไม่เป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะรายกลาง-รายเล็ก ที่ปีนี้อาจกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่วนบริษัทรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเดินหน้าต่อได้ ขณะที่ ลูกค้าจีนปีนี้ หากเฟ้นเฉพาะเศรษฐีจีนก็ยังมีกำลังซื้อ แต่ต้องระวังสงครามการค้า สำหรับ "เศรษฐกิจไทย" มองว่า อาจจะเกิดวิกฤติแต่ไม่ถึงกับต้มยํากุ้ง ปี 2540"

ซึ่งปัญหา "ลูกค้าทิ้งดาวน์" ยอมรับว่า "เกิดขึ้นได้" หากผู้ซื้อเกิดความไม่พอใจในทำเล หรือ สินค้า ขณะเดียวกันปัญหาเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจ เกิดขึ้นได้จากความรู้สึกไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า เกิดขึ้นได้ตลอด และยิ่งมีกระแสว่า ปีนี้เศรษฐกิจแย่ รายได้ไล่ตามค่าครองชีพไม่ทัน หลายรายเกิดความไม่มั่นคงทางอาชีพ รายได้ลด และอีกกลุ่มถูกธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธสินเชื่อ

นายธิติวัฒน์ ธีรกุลธัญโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2562 มีลูกค้าที่ซื้อคอนโดมิเนียมถึงกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้ แต่ไม่ต้องการจะถือครอง เนื่องจากเกรงจะสร้างภาระด้านการเงินในระยะยาว ได้ติดต่อฝากขาย เพื่อต้องการเงินดาวน์คืน มีทั้งที่ขายในราคาเท่าทุน แต่มีบ้างบางรายยอมขายขาดทุน เพราะต้องการได้เงินคืนเร็ว สถานการณ์นี้เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี ลูกค้าติดต่อฝากขายดาวน์คอนโดมิเนียมเกือบทุกวัน วันละ 3-4 ราย เป็นกลุ่มระดับราคา 4-5 ล้านบาท

"ที่น่าจับตา คือ คอนโดมิเนียมในกลุ่มราคาระดับล่าง ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่ทำยอดขายค่อนข้างสูงถึง 80-90% ลูกค้าที่ซื้อไว้จะมาโอนหมดครบหรือไม่ ในส่วนลูกค้าจีนที่เซ็นจูรี่ 21 ทำตลาดได้มา 2,000 ยูนิต ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถึงกำหนดโอนปีนี้หลายร้อยหน่วย ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาทยอยแล้ว"

➣ กำลังซื้อ หัวเมืองใหญ่กำลังฟื้น

"จังหวัดตามหัวเมืองใหญ่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง"
นี่คือ คำบอกเล่าของผู้ประกอบการในพื้นที่และดีเวลอปเปอร์จากส่วนกลาง ซึ่งล่าสุด มีทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติในแถบยุโรป รัสเซีย หรือแม้แต่จีน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ กลุ่มแฟมิลี เข้ามาใช้ชีวิตโดยไม่ผ่านเอเยนต์ วิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะยังอยู่ในช่วงไฮซีซัน แต่นี่คือ จุดเริ่มต้นที่ต้องจับตา

ทั้งนี้ ที่เห็นสัญญาณจนน่าแปลกใจ เมื่อ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมทำเลในเขตเมืองเก่าติดกับห้างเซ็นทรัลใน จ.ภูเก็ต พบว่า มีคนแย่งซื้อ แม้ราคาขายต่อตารางเมตรสูงถึง 1.2 แสนบาท ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้แสนสิริเคยลดราคาขายคอนโดมิเนียมมากถึง 50% เพื่อระบายสินค้ากว่า 1,000 หน่วย ในเมืองใหญ่ชั้นนำ ทั้งเหนือ อีสาน ใต้ และตะวันออกมาแล้ว

เช่นเดียวกับ ค่าย "เอสซี แอสเสท" ที่เปิดขายในทำเลไม่ห่างกันกับแสนสิริในเมืองภูเก็ต สร้างปรากฏการณ์คอนโดมิเนียมขายดีอีกแห่ง แม้ราคาต่อตารางเมตรจะสูง


MP25-3437-B

เชียงใหม่ก็ไม่แพ้กัน ล่าสุด มีนักลงทุนจีนด้านอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างอยู่ระหว่างเจรจานักลงทุนไทยเจ้าถิ่นพัฒนาคอนโดมิเนียมเจาะตลาดภาคเหนือ

ขณะที่ พัทยามีโครงการได้รับการอนุมัติ การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านโครงการพักอาศัย ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมของผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 3,000 หน่วย และมีการบอกเล่าว่า จำนวนหน่วยส่วนใหญ่ขายให้กับลูกค้าจีนและต่างชาติชาติอื่น ๆ รวมทั้งโครงการของดีเวลอปเปอร์จากส่วนกลาง แม้ปีนี้จะมีความวิตกกังวลว่า ลูกค้าจีนลดลง และอาจไม่โอนกรรมสิทธิ์ แต่ในความกังวลยังมีโอกาสสำหรับลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ

สาเหตุที่หัวเมืองใหญ่ยังไปได้ดี หรือ อาจพลิกฟื้นกำลังซื้อกลับมาเป็นบวก น่าจะเป็นประเด็นเรื่องราคาที่ดินในกรุงเทพมหานครถีบตัวสูงจากการขับเคลื่อนรถไฟฟ้าในหลายเส้นทางพร้อม ๆ กัน ทำให้ราคาขายคอนโดมิเนียมขยับสูงตามจนผู้ซื้อเอื้อมไม่ถึง ทำให้ตลาดอยู่ในภาวะตึงตัว ประกอบกับการหาที่ดินหายาก การแข่งขันสูง ทางออกผู้ประกอบการหลายค่ายต่างหันหัวรบออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ทรรศนะว่า กำลังซื้อจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ อย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต หัวหิน ชะอำ กำลังซื้อเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับราคาที่ดินไม่สูงเหมือนกรุงเทพมหานคร และตลาดไม่มีเฉพาะคนไทย ซึ่งต่างชาติแถบยุโรป รัสเซีย อินเดีย เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น รวมทั้งแฟมมิลีจีน และจีนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยโดยไม่ผ่านทัวร์หรือเอเยนต์

เช่นเดียวกับ นายบุญ ยงสกุล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ยืนยันว่า ทำเลในเมืองภูเก็ตและถนนเลี่ยงเมืองกลับเป็นที่สนใจ มีผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลางเข้าพื้นที่ เช่น แสนสิริ, เอสซี-แอสเสท, แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ฯลฯ เนื่องจากประเมินว่า "ยังมีลูกค้า" เช่นเดียวกับ นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.ชลบุรี มองว่า กำลังซื้อต่างชาติยังมีอยู่ในหัวเมืองท่องเที่ยวและในโครงการสมาร์ทซิตี ซึ่งร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวฮ่องกง วางแผนขึ้นคอนโดมิเนียม 6,000 หน่วย ในพื้นที่ศรีราชา

กำลังซื้อทั้งไทยและต่างชาติในจังหวัดหัวเมืองใหญ่จะพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกจริงหรือไม่ งานนี้ต้องดูกันยาว ๆ

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,437 วันที่ 20-23 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว