4 พรรค "ขายฝัน" นโยบายเศรษฐกิจ จัดใหญ่-แจกหนัก แก้ปัญหาปากท้อง

28 ธ.ค. 2561 | 09:37 น.
191
“ปัญหาปากท้อง” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่วนเวียนอยู่ในสังคมไทย ที่พรรคการเมืองน้อยใหญ่ต่างต้องหยิบยกขึ้นมาทำเป็นนโยบายหลัก หวังโกยคะแนนในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นี้

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบ รวมนโยบายที่เด่นๆ เพื่อแก้ปัญหาปากท้องคนรากหญ้า ของ 4 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคอนาคตใหม่ มาให้ได้ดูกัน
170 ปชป.อุ้มข้าว-ยาง-คนจน


เริ่มที่ “พรรคประชาธิปัตย์” หรือ ปชป. ภายใต้การนำทีมของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ปรากฏความเคลื่อนไหวตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศเปิดนโยบายมาเป็นลำดับ พร้อมยืนยันว่า หากได้เป็นรัฐบาล นโยบายต่างๆ ที่นำเสนอออกมานี้สามารถทำได้ทันที อาทิ

1. การประกันรายได้ให้กับชาวนาให้ขายข้าวได้เกวียนละ 10,000 บาท 2.ประกันราคายางกิโลกรัมละไม่ตํ่ากว่า 60 บาท 3.ประกันค่าแรง 120,000 บาทต่อปี 4.เพิ่มเบี้ยให้กับผู้ยากไร้ จากที่รัฐบาลให้ 500 บาทต่อเดือน เป็น 800 บาทต่อเดือน

5. จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน 6. ให้เบี้ยเด็กอายุ 0-8 ปี เดือนละ 1,000 บาท 7. เบี้ยสวัสดิการคนจน 800 บาทต่อเดือน 8. โฉนดชุมชนเพื่อที่อยู่ที่ทำกิน 9. ยกระดับที่ ส.ป.ก.กู้ได้ 10. เดินหน้าธนาคารที่ดิน และ 11. เร่งออกโฉนดที่ดินค้างท่อ
160 พปชร.สานต่อ อีอีซี

คราวนี้มาดูนโยบายของ “พลังประชารัฐ” หรือ พปชร. ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นั่งแท่นหัวหน้าพรรค กันบ้าง...

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ นับเป็นพรรคน้องใหม่ป้ายแดงที่มาแรงมากที่สุด มี 4 รัฐมนตรีขับเคลื่อนนโยบายพรรค คือ นายอุตตม รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินสายลงพื้นที่โกยคะแนนอย่างต่อเนื่อง

พบว่า นโยบายส่วนใหญ่ของพรรค ยังคงให้นํ้าหนักไปที่นโยบายเดิมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน อาทิ 1. การสานต่อโครงการชิ้นโบแดงของรัฐบาล ซึ่งก็คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี 2. ปรับสวัสดิการแห่งรัฐสู่สวัสดิการถ้วนหน้า 3. ลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ ด้วยดิจิตอล 4. สร้างเศรษฐกิจแบบไบโออีโคโนมี

5. ใช้บิ๊กดาต้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ตรงจุด 6. ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยซื้อขายสินค้าออนไลน์ 7. ชูท่องเที่ยวเป็นจุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยว 8. สร้าง 15 เมืองใหญ่ 15 เมืองรอง 9. เปลี่ยนร้านโชวห่วยเป็นศูนย์รวมสินค้าชุมชน 10. ตั้งกองทุนเกษตรกรรม และ 11. สร้างเกษตรอัจฉริยะ-เกษตรยั่งยืน
150 ภท.ดันตั้งกองทุนข้าว

ลองหันมาที่ “พรรคภูมิใจไทย” หรือ ภท. ของ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” กันดูบ้าง หลายคนอาจถูกใจ “ภูมิใจไทย” เป็นอีกพรรคที่ชูนโยบายเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ มีนโยบายสำหรับคนเมืองกรุงโดยเฉพาะ คือ การเรียกรถผ่านแอพพลิเคชัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “กรุงเทพฯสะดวก กรุงเทพฯสบาย ถูกกฎหมายทุกคัน” ซึ่งจะสร้างทางเลือกใหม่ในการเดินทางด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล เข้ามาเพิ่มทางเลือกการคมนาคมเพื่อแก้ปัญหารถติด

รวมถึงแนวคิดการสร้างพื้นที่ หรือออฟฟิศที่ใช้งานร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน หรือ Co-Working Space 1 แขวง 1 ออฟฟิศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหาการจราจร โดยให้ทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน มาทำงานออฟฟิศ 4 วัน โดยจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับภาคเอกชน ส่วนประชาชนจะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี แก่ผู้ที่ทำงานอยู่บ้าน รวมถึงการสนับสนุนให้ข้าราชการทำงานที่บ้านด้วย

[caption id="attachment_367778" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

นอกจากนี้ยังมีนโยบายจัดตั้ง “กองทุนข้าว” ปล่อยสินเชื่อ ดอกเบี้ยตํ่าให้แก่เกษตรกรที่สนใจ

“ภูมิใจไทย” ยังขายไอเดีย เรื่องของการให้บริการ ให้คำปรึกษาด้านการรักษาพยาบาลที่บ้านผ่านทางโทรศัพท์ โดย “อนุทิน” บอกเอาไว้ว่า ภูมิใจไทยมีนโยบายที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบโทร.เวชกรรม หรือ เทเลเมดเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงาน

เพราะปัจจุบันปัญหาของระบบสาธารณสุขของไทย คือ มีผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปถึงโรงพยาบาลมากถึง 25% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และกำลังขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับงานหนักเกินความจำเป็นและใช้งบประมาณมากเกินความจำเป็น

การใช้เทคโนโลยีเทเลเมด สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลก็สามารถส่งยาผ่านระบบการส่งยาเคลื่อนที่จากโรงพยาบาลสู่ผู้ป่วยได้ จะทำให้ระบบการแพทย์ทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีครบวงจรเกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม

การใช้เทคโนโลยีเทเลเมดจะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ด้วย โดยบุคลากรทางการแพทย์ในรถฉุกเฉินสามารถสื่อสารกับหมอผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลระหว่างทาง อีกทั้งสามารถที่จะใช้กล้องที่เชื่อมโยงกับระบบ 4 จีหรือ 5 จี ทำให้สามารถที่จะมองเห็นสถานการณ์ของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก หากมีการสื่อสารระหว่างทางแบบเรียลไทม์

รวมถึงสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนที่บ้าน ผ่านโครงการ “Digital Home School” และการพักชำระหนี้เป็นเวลา 5 ปีให้กับผู้กู้เงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทั้งยังมีนโยบายการสนับสนุนใช้ปาล์มนํ้ามันผลิตกระแสไฟฟ้า ยกสถานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขึ้นเป็นหมอประจำบ้านด้วย
140 อนค.ชูเลิกผูกขาดอุตฯ

ขณะที่ “พรรคอนาคตใหม่” หรือ (อนค.) ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นั้น นอกจากการประกาศนโยบายมุ่งประเด็นไปทางการเมืองแล้ว นโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่น่าสนใจ อาทิ

1. ยกเลิกการผูกขาดทั้งระบบ ด้วยการปลดล็อกโครงสร้างทางกฎหมาย รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้เกิดการผูกขาดในทุกๆ อุตสาหกรรม 2. สร้างอุตสาหกรรมในประเทศโดยคนไทย เพื่อคนไทย ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการสำคัญ คือ

ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีฐานการผลิตในประเทศ ไทย, เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องสอด คล้องกับการพัฒนาประเทศ,เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการของประเทศ

สุดท้าย คือ การกระจาย อำนาจให้กับท้องถิ่นเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยตนเองได้

ทั้งหมดเป็นเพียงบาง ส่วนของนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม ของ 4 พรรคการเมือง ที่มีการเปิดเผยออกมา ซึ่งพอจะทำให้เห็นได้บ้างแล้วว่า “นโยบาย” ของใคร พรรคไหน “โดน-ไม่โดน”

และเมื่อพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศใช้ ช่วงต้นปี 2562 คงได้เห็นนโยบายเด็ดๆ ของแต่ละพรรค ทยอยเปิดออกมาอีก เพื่อ “จูงใจ” ให้ผู้มีสิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้ง ลงคะแนนให้กับพรรคตัวเอง...

| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3430 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 27-29 ธ.ค.2561
595959859