"โอน-แจก" เงินผู้มีรายได้น้อย ช่วยได้ถูกจุด แต่ไม่ถาวร!!

19 ธ.ค. 2561 | 08:28 น.
191261-1439

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ "สวัสดิการประชาชนและมาตรการแก้จนของรัฐบาล บนโจทย์วินัยทางการคลัง"

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ให้มุมมองและต้ังข้อสังเกตได้อย่างน่าสนใจ ว่า เรื่องของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินนั้น เป็นวงจรอุบาทว์ เป็นคนละเรื่อง แต่ใกล้เคียงกันมาก และที่ผ่านมา รัฐไทยมีนโยบายด้านรายได้อยู่บ้าง ในขณะที่ นโยบายด้านทรัพย์สินนั้นเกือบไม่มี หรือมีก็น้อยมาก จนก่อให้เกิดวาทกรรมที่ว่า "รัฐไทยไม่เห็นหัวคนจน" ซึ่งเป็นคำอธิบายรัฐไทยได้ดี ตั้งแต่แผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 1 กระทั่งในยุคของรัฐบาลไทยรักไทยได้มีนโยบายเห็นหัวคนจนมากขึ้น

 

[caption id="attachment_363417" align="aligncenter" width="316"] ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ[/caption]

อย่างไรก็ดี รูปแบบ หรือ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น มีหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นที่นิยมนำมาใช้เพื่อการหาเสียง คือ การแจกเงินและการโอนเงินให้ ดร.สมชัย วิเคราะห์ว่า ข้อดี คือ มีต้นทุนการบริหารจัดการที่ต่ำกว่ามาก ดังเช่น กรณีของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่กำหนดให้ไปซื้อของที่ร้านธงฟ้า ซึ่งต้องมีการติดตั้งเครื่องรูดบัตร ทำให้มีต้นทุนบริหารจัดการที่สูงกว่า แต่หากแจกเงินให้ไปเลย ต้นทุนจะต่ำกว่า โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินให้กับทุกคน และต้องแจกไม่เยอะจนเกินไป

นอกจากนี้ การโอนเงินและการแจกเงินยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้มาก เพราะการให้เป็นเงินสามารถบรรเทาผลกระทบได้ตรงจุดกว่า เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีความต้องการที่เกิดจากความจนไม่เหมือนกัน ไม่แจกเงิน แล้วไปแจกอาหาร อาจไม่ตอบโจทย์ทุกครอบครัว

"จะให้เบ็ด หรือ ให้ปลา ทุกคนแทบจะตอบตรงกันว่า ให้เบ็ด ห้ามให้ปลา แต่โดยส่วนตัว ผมอยากให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ จากให้เบ็ด เป็นให้ปลาก่อน ทำให้เขาหลุดพ้นความยากจนขึ้นมาก่อน แล้วเขาค่อยไปสร้างเบ็ดด้วยตัวเองและตรงกับความต้องการที่เขาจะใช้"


681069

ดร.สมชัย ชี้! ภาครัฐนับว่ามีศักยภาพสูงมากในการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ความเหลื่อมล้ำจากการเกิดกลไกตลาดมีไม่ได้น้อยไปกว่าไทย กล่าวคือ มือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่ที่ดีกว่า คือ รัฐเข้าไปแทรกแซงเก็บภาษีแบบก้าวหน้า แล้วนำเงินมาใช้เพื่อประชาชนชาวรากหญ้า

ภาครัฐของประเทศในกลุ่ม OECD ประสบความสำเร็จลดความเหลื่อมล้ำนั้น ใช้จ่ายเงินด้านสังคมสูงกว่าไทยมากอยู่ที่ประมาณ 20% ของ GDP ขณะที่ ของไทยใช้จ่ายงบประมาณด้านสังคมเพียง 7.8% ของ GDP ไทย ต้องเพิ่มงบประมาณด้านสังคมอีกปีละประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ได้ 10% ของ GDP ซึ่งที่ผ่านมานั้น นโยบายการคลังของรัฐบาลก่อนนั้นไปทุ่มงบประมาณให้กับการป้องกันประเทศ เห็นว่า ควรลดงบประมาณนี้ลง

ทั้งยังเห็นว่า รัฐบาลไปยุ่งเรื่องเศรษฐกิจมากเกินไป มองว่า หลายเรื่องให้เอกชนทำ รัฐควรไปเพิ่มรายได้จากภาษีจากฐานทรัพย์สิน ปรับค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ทำนโยบาย Earmark สู่รายจ่ายด้านสังคม เพื่อผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น


lo07-2

สำหรับการบริหารประเทศ 4 ปีของรัฐบาล คสช. ซึ่งมีมาตรการและนโยบายต่าง ๆ อาทิ การช่วยเหลือเกษตรกรต่อไร่ มีนโยบายทดแทนจำนำข้าว โอนเงินลงพื้นที่ เช่น การเติมเงินกองทุนหมู่บ้าน ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งใช้งบประมาณเฉลี่ยอยู่ที่ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท

โดยส่วนตัวมองว่า เป็นรายจ่ายด้านสังคมที่ไม่เยอะมาก น้อยกว่ากลุ่มประเทศ OECD สิ่งที่สำคัญ คือ มีการใช้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เพราะยังเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณอยู่ ผ่าน ธ.ก.ส. และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง ยังไม่มีเรื่องของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และยังไม่มีนโยบายเตรียมคนจำนวนมากที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดังเช่น กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มวัยทำงานที่มีความรู้น้อย

ส่วนมาตรการล่าสุดของรัฐบาล คสช. นั้น มองว่า เนื้อแท้ ก็คือ การแจกเงิน เป็นนโยบายหาเสียง เป็นนโยบายครั้งเดียว เกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง และไม่ได้มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะอ้างช่วยเรื่องผู้สูงอายุ เป็นเหตุผลพอฟังได้ แต่ทำไมถึงทำครั้งเดียว การหาเสียงเป็นเรื่องปกติในระบบการเมือง มองว่า ไม่น่ารังเกียจ หากสามารถพัฒนาสู่นโยบายถาวรได้


a1_943


จึงมีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่า ต้องมีทัศนคติต่อคนจนที่ถูกต้อง การสร้างความเข้มแข็งให้คนจนเป็นสิ่งสำคัญ เสนอให้มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ แยกกลุ่มฐานะให้ชัดเจน จริงจังในการหารายได้เพิ่ม โดยรัฐต้องรณรงค์ปรับทัศนคติของคนในสังคมให้ร่วมมือรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

เช่น ยอมจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น โดยรัฐให้ความเชื่อมั่นว่า จะใช้งบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง สุดท้าย คือ พรรคการเมืองต้องบอกกับประชาชนว่า นโยบายที่ใช้หาเสียงนั้น มีต้นทุนทางการคลังเท่าใด จะลดความเหลื่อมล้ำได้มากเพียงใด เพื่อท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนสามารถที่จะตรวจสอบได้ในภายหลัง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,427 วันที่ 16 - 19 ธ.ค. 2561 หน้า 06

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เทงบ 115 ล้าน ทำโครงการอาคารเช่าผู้มีรายได้น้อย จ.เพชรบุรี
รัฐบาลอัดอีก 4 มาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อย


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก