บูมธุรกิจ‘คาร์แชริ่ง’...ฮ้อปคาร์เพิ่มจุดจอด-เอแซ็ปทุ่ม100ล้านซื้อรถใหม่

19 พ.ย. 2561 | 04:28 น.
“ฮ้อปคาร์” ผนึกพันธมิตรเพิ่มจุดจอด ชูกลยุทธ์ราคา รถที่หลากหลาย ด้านเอแซ็ปพัฒนาแอพพลิเคชันรองรับทั้งรถเช่าระยะสั้น- ยาว ธุรกิจในเครือพร้อมซื้อโตโยต้า ซี-เอชอาร์ 100 คันเข้ามาในพอร์ต มั่นใจตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายและคล่องตัว

ธุรกิจคาร์แชริ่งเป็น 1 ใน 4 นวัตกรรมที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต สำหรับประเทศไทยเองแต่เดิมอาจจะดูไกลตัว แต่ก็เริ่มมีผู้ประกอบการเข้ามาบุกในธุรกิจดังกล่าวแล้วหลายราย ซึ่งก็มีทั้งผู้เล่นรายใหม่ สตาร์ตอัพ รวมไปถึงผู้เล่นที่ครํ่าหวอดอยู่ในธุรกิจรถเช่าที่มีรูปแบบธุรกิจที่คล้ายคลึงกันกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ เช่นเดียวกับค่ายรถก็ให้ความสำคัญ มีการนำร่องธุรกิจนี้อย่างโตโยต้า

ส่วนความแตกต่างของคาร์แชริ่งและรถเช่านั้น ผู้ใช้งานคาร์แชริ่งไม่ต้องเติมนํ้ามันหรือจ่ายเงินค่าประกันรถเหมือนการเช่ารถ โดยจะเป็นการจ่ายค่าบริการผ่านแอพพลิเคชัน และคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง ใช้เท่าไรจ่ายในราคาเท่านั้น ไม่ต้องมีการจองล่วงหน้า เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ส่วนการรับรถนั้นก็จะมีจุดจอดที่กระจายอยู่ ซึ่งลูกค้าที่จะใช้บริการสามารถปลดล็อกผ่านแอพพลิเคชันและนำรถไปใช้บริการได้ทันที

MP32-3419-A

“คาร์แชริ่งจะเริ่มได้รับความนิยมมากเพิ่มขึ้น เพราะสะดวกและคล่องตัว สำหรับฮ้อปคาร์ (Haupcar)เราถือเป็นรายแรกที่เข้ามาแนะนำตัวในตลาดนี้ ซึ่งแผนงานของเรามีการจับมือกับพันธมิตรต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ เอแซ็ปในการสนับสนุนรถเช่า, ผนึกกำลังกับแสนสิริ,จับมือกับเอไอเอส ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้า นอกจากนั้นแล้วยังมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ด้วยการเข้าไปเพิ่มจุดจอดตามมหาวิทยาลัย อาทิ ธรรมศาสตร์, ศิลปากร ส่งผลให้ในปัจจุบันเรามีจุดจอดรถแล้วกว่า 100 จุด ไม่เพียงเท่านั้นเรายังมีราคาเริ่มต้น 79 บาทต่อ 1 ชั่วโมง รวมไปถึงการมีรถให้เลือกทั้งแบบอีโคคาร์ ,รถหรูและรถไฟฟ้า” ดร.สโรช บุญศิริพันธ์ CSO&Co- founder บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด กล่าว

ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจรถเช่ารายใหญ่อย่าง เอแซ็ป ที่แต่เดิมมีการจับมือกับฮ้อปคาร์ ก็มีแผนพัฒนาและขยายธุรกิจเข้าสู่การเป็นคาร์แชริ่งแบบเต็มตัวมากขึ้น

“อนาคตผู้บริโภคจะซื้อรถยนต์น้อยลงและหันมาใช้บริการคาร์แชริ่งมากขึ้น ซึ่งเหตุผลนี้ก็จะเข้ากับธุรกิจของเราอย่าง ASAP GO ซึ่งเราวางเป้าหมายการให้บริการด้วยการเป็น คาร์แชริ่ง เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่กำลังปรับเปลี่ยนไป” นายทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอแซ็ป (asap) กล่าวและว่า

“ในปีที่ผ่านมาเราจับมือกับฮ้อปคาร์ (Haupcar) ผู้ให้บริการคาร์แชริ่งรายแรกของไทย และเปิดตัวบริการ ASAP GO โดยเราทำหน้าที่สนับสนุนรถจำนวน 80 คัน แต่ล่าสุดเราได้พัฒนาแอพพลิเคชัน “asap” ขึ้นมา ซึ่งแอพดังกล่าวจะรวมการบริการของเราทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรถเช่าระยะสั้น ระยะยาว ไปจนถึงเอแซ็ปออโตพาร์ค ที่จำหน่ายรถมือ2 โดยลูกค้าสามารถดาวน์โหลดกับระบบปฏิบัติการแอนดรอย และระบบไอโอเอสแล้วใช้งานผ่านแอพพลิเคชันได้เลย”

นอกจากการพัฒนาแอพพลิเคชันให้ออกมารองรับไลฟ์สไตล์และความต้องการในธุรกิจคาร์แชริ่งที่จะเพิ่มมากขึ้นแล้ว เอแซ็ปยังทุ่มงบลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในการซื้อรถยนต์โตโยต้า ซี-เอชอาร์ เพื่อมาให้บริการในธุรกิจ และในปีหน้าจะเพิ่มรถเข้ามาอีก 300 -500 คัน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับลูกค้าที่จะมาขอใช้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยลูกค้าส่วนใหญ่คือสถาบันการเงินรายใหญ่และองค์กรต่างๆ อย่างไรก็ตามลูกค้าทั่วไปก็สามารถใช้บริการได้ ซึ่งเอแซ็ปจะมีจุดจอดบริการประมาณ 60-80 จุดในปีหน้า

“เราได้พูดคุยกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยฯ ในวันที่มีการส่งมอบรถยนต์ซี-เอชอาร์ จำนวน 100 คันให้กับเรา โดยท่านประธานก็มองว่าแนวโน้มของคาร์แชริ่งในประเทศไทยจะมีเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความมุ่งมั่นของโตโยต้าในการที่ก้าวไปสู่การเป็น องค์กรแห่งการขับเคลื่อนหรือโมบิลิตี คัมปะนี ทั้งหมดนี้ก็เลยดูไปในทิศทางเดียวกัน” นายทรงวิทย์กล่าว

[caption id="attachment_348122" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ขณะที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยฯ ก็มีการสนับสนุนคาร์แชริ่งในปีที่ผ่านมา โดยนำรถไฟฟ้าขนาดเล็ก HA:MO มาวิ่งให้บริการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งการใช้งานนั้นผู้ใช้บริการจะต้องดาวน์โหลดผ่านแอพสโตร์หรือกูเกิลเพลย์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษา, อาจารย์, ประชาชนทั่วไป และล่าสุดโตโยต้าก็ได้ขยายคาร์แชริ่งแห่งที่ 2 มายังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจะนำ HA:MO มาให้บริการในการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจุดท่องเที่ยวในอยุธยา

เรียกว่าภาพเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับธุรกิจคาร์แชริ่งในประเทศไทย แม้จะยังไม่เติบโตมากนัก แต่ก็ถือได้ว่ามีการเริ่มต้นกันแล้ว

ขณะที่ธุรกิจคาร์แชริ่ง ในปัจจุบัน “อีโคโนมิก อินเทลลิเจนซ์เซ็นเตอร์ (อีไอซี)ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เคยออกบทวิเคราะห์เรื่อง “จูนเครื่องก่อนสตาร์ตบริการ Car Sharing”โดยระบุว่าธุรกิจนี้มีสมาชิกทั่วโลกรวมประมาณ 6 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านคนภายในปี 2020 โดยในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีอัตราการเติบโตของจำนวนสมาชิกจากปี 2012-2015 สูงถึง 65% ต่อปี มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดที่ 2.3 ล้านคนรองลงมาเป็น ยุโรป 2.2 ล้านคน และอเมริกาเหนือ 1.6 ล้านคน และรถที่ให้บริการรวม 1 แสนคัน

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,419 วันที่ 18 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

595959859