ยกชั้น กทม. มหานครโลก! ผังเมืองใหม่บูม 3 ศูนย์คมนาคมบางซื่อ-มักกะสัน-ตากสิน

29 ต.ค. 2561 | 11:29 น.
291061-1818

กทม. เผย ผังเมืองใหม่ไร้รอยต่อ ปั้นกรุงเทพฯ ขึ้นชั้น "มหานครโลก" ดึงปริมณฑลเข้าเป็นเมืองบริวาร หลังรถไฟฟ้าเร่งขยายโครงข่ายครอบคลุม พร้อมบูม 3 ศูนย์คมนาคมบางซื่อ-มักกะสัน-ตากสิน

การพัฒนาเมืองพลิกโฉมอย่างรวดเร็ว จากรถไฟฟ้าเชื่อมกระชับกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลเข้าด้วยกัน ดังนั้น การปรับปรุงผังเมืองรวม ฉบับที่ 4 ของกรุงเทพมหานคร จึงพลิกมิติใหม่จากการควบคุมเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันพัฒนาสร้างศูนย์กลางธุรกิจใหม่ รองรับประชากร ที่ดินขึ้น ... "หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ" เล็งเห็นความสำคัญ จึงจัดสัมมนาในหัวข้อ "ผังเมืองใหม่-เมกะโปรเจ็กต์ : พลิกโฉม กทม." เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง

 

[caption id="attachment_339436" align="aligncenter" width="503"] สัมมนา "ผังเมืองใหม่-เมกะโปรเจ็กต์ : พลิกโฉม กทม." สัมมนา "ผังเมืองใหม่-เมกะโปรเจ็กต์ : พลิกโฉม กทม."[/caption]

รถไฟฟ้าเปลี่ยนเมือง
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร สะท้อนว่า การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 4 จะกำหนดบทบาทให้สอดรับไปกับการพัฒนาโครงข่ายที่กำลังเกิดขึ้นเชื่อมโยงในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล จากแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภาครัฐ รวมระยะทาง 508 กิโลเมตร เพิ่มจากแผนเดิม ช่วงปี 2541-2545 ที่มีระยะทางเพียง 296 กิโลเมตร ส่งผลเกิดทำเลใหม่ ทั้งนี้ โซนที่เปิดให้พัฒนาได้เต็มพิกัดจะอยู่ภายในวงแหวนรัชดาฯ รอบสถานีรถไฟฟ้า ทั้งที่เปิดให้บริการและอยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะเดียวกันยังขยายพื้นที่พัฒนาตึกสูง จากรัศมี 500 เมตร รอบสถานี ขยายวงเพิ่มเป็น 750-1,000 เมตร เพื่อลดเหลื่อมล้ำ ช่วยให้แปลงที่ดินที่หลุดวงรัศมี 500 เมตร สามารถกลับมาพัฒนาตึกสูงได้ โดยแบ่งเบื้องต้นและยังเพิ่มมูลค่าที่ดินล่าสุดมอบให้ที่ปรึกษาไปพิจารณาความเหมาะสมว่า ควรเป็นรัศมีที่เท่าใดและให้สอดคล้องกับระบบรางที่จะแล้วเสร็จ ผังเมืองฉบับนี้ยังกำหนดการเชื่อมโยงระบบล้อ-ราง-เรือ ให้สัมพันธ์กัน เพื่อสะดวกต่อการเดินทาง


บูมทำเลทองศูนย์ตากสิน
ขณะเดียวกันยังกำหนดศูนย์เปลี่ยนถ่ายคมนาคม 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์คมนาคมบางซื่อ อยู่ระหว่างก่อสร้าง, ศูนย์คมนาคมมักกะสัน ก่อสร้างแล้วเสร็จ อีกแห่งมองทำเลย่านคลองสาน ซึ่งเป็นจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีเขียวตัดสายสีทอง และสายสีทองตัดสายสีม่วง บริเวณสะพานพระปกเกล้า และสายสีแดง จากมหาพฤฒาราม ที่มาจากลาดหญ้า ตรงนั้นอนาคตบริเวณนี้จะเป็นศูนย์ตากสินของฝั่งธนฯ พื้นที่ขนาดใหญ่ ส่วนพื้นที่หมอชิตมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวบีทีเอสและสายสีน้ำเงินตัดกัน ซึ่งมีคนใช้บริการแสนครั้งต่อวัน อีกทั้งโซนพื้นที่รอบนอกมีรถไฟฟ้า ยังเน้นให้เป็นศูนย์กลางชุมชนใหม่ หรือ เมืองใหม่ ซึ่งจะเลือกทำเลศักยภาพเชื่อมผ่านโดยรถไฟฟ้าและระบบถนน อย่าง รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก วิ่งผ่านรามคำแหง เข้ามีนบุรี, สายสีชมพู วิ่งถนนรามอินทราตลอดเส้นทาง เข้ามีนบุรี ตัดสายสีส้ม และสายสีเหลือง ผ่านลาดพร้าวออกศรีนครินทร์ ผ่านเทพารักษ์ และบรรจบกับสายสีเขียวใต้ที่สถานีสำโรง รวมทั้งรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน วิ่งไปฝั่งธนฯ ลาดกระบัง มีนบุรี ฝั่งธนบุรีจะเป็นศูนย์ชุมชนใหม่ที่น่าจับตา โดยเฉพาะการปรับพื้นที่สีเขียว (ประเภทชนบทและเกษตรกรรม) ลดลงเพิ่มความถี่การพัฒนามากขึ้น

 

[caption id="attachment_339441" align="aligncenter" width="503"] ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร[/caption]

แลกสิทธิ์บนอากาศ-พียูดี
สำหรับมาตรการทางผังเมืองจูงใจพัฒนา จะมีเรื่องของการโอนสิทธิ์ หากที่ดินอยู่ในเขตอนุรักษ์สามารถโอนให้คนอื่นได้ หากเป็นพื้นที่สีส้มอยากได้พื้นที่สีแดง ก็หาพื้นที่เขียวมาแลก แต่การซื้อขายสิทธิ์ในอากาศจะต้องเป็นโครงการที่มีสาธารณูปโภคพร้อมมีสวนสาธารณะ จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าว และมีโบนัสเพิ่มอีก 20% อีกมาตรการเชิงบวกที่นำมาใช้ คือ พียูดี (แพลนยูนิตดีเวลอปเมนต์) ซึ่งอานิสงส์จะตกกับที่ดินเอกชนและรัฐ นอกจากกำหนดพื้นที่โซนชานกรุงเทพฯ 100-200 ไร่ขึ้นไป

นายแสนยากร อุ่นมีศรี รองผู้อำนวยการ สำนักผังเมือง กล่าวว่า ผังเมืองใหม่ต้องตอบ 4 โจทย์ คือ 1.ระบบรางที่มีการวางแผนและลงทุนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ผังเมืองต้องปรับตามการปรับสีจากความหนาแน่น 2.ผังเมืองเดิมมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ไม่ครบถ้วน 3.มาตรการใหม่จะเป็นเรื่องการโอนสิทธิ์บนอากาศ การทำโครงการใหญ่ พียูดี ซึ่งเริ่มจาก 20 ไร่ (กรุงเทพฯชั้นใน) และชานเมือง 200 ไร่ 4.การจัดให้ทำพื้นที่สาธารณะควรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีศักยภาพมากที่สุด

 

[caption id="attachment_339442" align="aligncenter" width="503"] แสนยากร อุ่นมีศรี รองผู้อำนวยการ สำนักผังเมือง แสนยากร อุ่นมีศรี รองผู้อำนวยการ สำนักผังเมือง[/caption]

สร้างเมืองบริวาร
นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ปัจจุบันผ่านช่วงของการทำผัง เข้าสู่การพัฒนาเมือง โดยการพัฒนาต้องทำให้เกิดความเชื่อมโยง ทำให้ กทม. ต่างจากเมืองอื่น ขณะเดียวกัน ต้องรวมปริมณฑลเข้ากับ กทม. มีศูนย์กลางหลัก เมืองรอง และเมืองบริวาร แต่ขณะเดียวกันไม่ลืมพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อไม่ให้เกิดการรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรม

ส่วนมาตรการเสริม เป็นเรื่องที่ดี เช่น เอฟเออาร์โบนัส หากทำสวนสาธารณะ ทางเดินเท้า ฯลฯ แต่มีคนมาใช้น้อยมาก ทางออก กทม. ต้องหายาแรง เพื่อผลักดันให้คนใช้มากขึ้น

เมืองขยาย
นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ปัจจุบัน ทุกคนมุ่งเป้าไปที่สถานีกลางบางซื่อและมักกะสัน ซึ่งมีภาคเอกชนขนาดใหญ่เข้าไปลงทุน หมายถึงความเจริญจะไปรวมกันอยู่ที่นั่น แต่มองว่าเป็นระยะสั้นเท่านั้น เพราะระยะยาวโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะกระจายความหนาแน่น ทำให้ความเจริญของ กทม. ถูกแบ่งออกไป ซึ่งอนาคตความเจริญจะไม่กระจุก แต่จะถูกกระจาย ดังนั้น กทม. ต้องปรับบทบาทของตนเอง ขณะที่ ผังเมืองจะเป็นตัวพาความเจริญเข้ามา

 

[caption id="attachment_339444" align="aligncenter" width="503"] อธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร อธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร[/caption]

"กทม. ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการทำผังเมืองของตัวเอง การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น กระจายงบประมาณ และกระจายความรู้ในการทำผังเมืองจะช่วยให้ท้องถิ่นเจริญและเติบโตได้"

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า วันนี้ กทม. มีโครงการมิกซ์ยูสเกิดขึ้นจำนวนมาก และในอีก 5-6 ปี จะเกิดขึ้นอีกมาก แต่ส่วนใหญ่จะมีแต่โรงแรม อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า โดยอาคารสำนักงานจะมีพื้นที่เพิ่ม 2-3 ล้านตารางเมตร และจะต้องมีคนที่ต้องเข้ามาทำงานอีก 2-4 แสนคน แต่ผังเมืองที่มีอยู่ไม่ช่วยอะไร ยังไม่มีโปรเจ็กต์ไหนตอบโจทย์ เพราะทุกวันนี้การจราจรยังติดขัด ปัญหาจะยิ่งแย่ลงทุกวัน ไม่สามารถเพิ่มผิวจราจร แต่ไปเพิ่มเลนจักรยาน

การเคหะเนรมิตเมือง
นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะฯ มีที่ดินแปลงใหญ่รอการพัฒนาร่วมกับเอกชน ที่ดินการเคหะร่มเกล้าพื้นที่สีเหลือง ย.2 พัฒนาเฉพาะแนวราบ มีมูลค่า 5,000 ล้าน หากผังเมืองปรับเป็นพื้นที่สีน้ำตาล ย.7 เชื่อว่าที่ดินจะมีมูลค่าสูงขึ้น 3 หมื่นล้านบาท สามารถพัฒนาตึกสูง แหล่งช็อปปิ้ง ได้เหมือนต่างประเทศ เนื่องจากใกล้สนามบินสุวรรณภูมิเพียง 8 กิโลเมตร รวมทั้งที่ดินลำลูกกา ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่อยู่ระหว่างก่อสร้างปัจจุบัน


01-3413-311061-1246
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,413 วันที่ 28 - 31 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"TSF" แจงปมปัญหาค้างค่าเช่าป้าย กทม.
"ทวีศักดิ์" ยันผังเมืองใหม่ต้องตอบโจทย์ โตทั้ง กทม.-ปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน