ผังเมืองรวมกรุงเทพฯใหม่ ปลดล็อกพลังเมืองพัฒนาชาติ

28 ต.ค. 2561 | 05:06 น.
ผังเมือง 2.ปรับปรุงผังเมือง_๑๘๑๐๒๘_0144 กรุงเทพมหานครเริ่มกระบวนการยกร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงใหม่ครั้งที่ 4 แล้ว โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ เพื่อยกร่างผังเมืองรวมให้เสร็จครบถ้วน ก่อนจะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ใหญ่ให้แสดงความเห็นกันอีกครั้งจนได้ข้อสรุป จากนั้นจะเสนอให้กระทรวงมหาดไทยส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ในปลายปี 2562 ต่อไป

เวทีเสวนา “ผังเมืองใหม่ เมกะโปรเจ็กต์:พลิกโฉมกทม.” ที่ฐานเศรษฐกิจร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดห้องประชุมใหญ่ในโรงแรมหรูย่านราชประสงค์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม
6. เปิดลายแทงทำเลธุ_๑๘๑๐๒๘_0006 ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2535 ผ่านการปรับปรุงมาแล้ว 3 ครั้ง ส่งผลให้มีการจัดวางโครงสร้างต่างๆ อาทิ ผังโครงข่ายคมนาคมขนส่งผังระบบสาธารณูปโภค ผังบริหารจัดการนํ้า ฯลฯ ให้ประสาน สอดคล้องและมีทิศทางร่วมตามเป้าหมาย แต่กรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยรอบอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แนวคิดการทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่นี้ก็เปลี่ยนไปจากเดิมด้วยเช่นกัน

[caption id="attachment_338754" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนหลักคิดการทำผังเมืองรวม จากเดิมที่เป็นผังเพื่อการกำกับ ให้ทิศทางการเติบโตของเมือง โดยวางอยู่บนแผนโครงข่ายถนนเป็นหลัก มาเป็นผังเมืองเพื่อการพัฒนาโดยวางอยู่บนโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 12 สายหลัก ที่รัฐบาลกำลังเร่งลงทุน เมื่อเสร็จสิ้นจะมีระยะทางรวมกว่า 500 กิโลเมตรแตกแขนงครอบคลุมทุกพื้นที่

เมืองกำลังเปลี่ยน ศูนย์กลางเมืองจะขยายจากย่านการค้าปทุมวัน-ราชประสงค์เดิม เกิดศูนย์เศรษฐกิจใหม่ย่านบางซื่อ-ห้าแยกลาดพร้าว ขณะที่ฝั่งธนบุรีจะเติบโตรอบศูนย์ตากสินย่านวงเวียนใหญ่ พร้อมกับศูนย์เศรษฐกิจใหม่กระจายตัวไปเชื่อมโยงกับปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ และต่อเนื่องถึงหัวเมืองแต่ละภูมิภาค
6. เปิดลายแทงทำเลธุ_๑๘๑๐๒๘_0002 กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้าระยะ 2 มุ่งยกระดับระบบรองเพื่อถักทอเข้ากับโครงข่ายหลัก 12 สายทางข้างต้น ให้คนกรุงเทพฯสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้สะดวก มีประสิทธิภาพ ลงไปถึงหน้าที่พัก เพื่อให้เดินเท้าจากที่พักหรือที่ทำงานสู่ระบบขนส่งมวลชน เป็นการเตรียมตัวสู่เมืองที่จะลดการเดินทางด้วยรถยนต์ในอนาคต

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ที่ก้าวสู่ระดับผังเมืองเพื่อการพัฒนาสู่อนาคต ยังเป็นตัวแบบการพัฒนาเมืองให้หัวเมืองต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภูมิสังคมอนาคต ที่คนจะเข้ามาอาศัยในเขตเมืองเป็นหลัก เป็นการขับเคลื่อนเมืองเพื่อสร้างความเติบโตและการพัฒนาชาติในภาพรวมต่อไป

|คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3413 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28-31 ต.ค.2561
595959859