กรมชลประทาน เผย 75 จุดเสี่ยง "น้ำท่วมใต้"

23 ต.ค. 2561 | 06:27 น.
44545783_1890559237686640_6399394416548642816_o
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 21–22 ต.ค. 2561 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 23-27 ต.ค. 2561 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง ภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบัน (22 ต.ค. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 6,768 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุเก็บกักรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,057 ล้าน ลบ.ม. หรือ คิดเป็นร้อยละ 78 ของปริมาณน้ำใช้การได้ สามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ปฏิบัติตามข้อสั่งการของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ โดยให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสภาพฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการระบายน้ำและเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ยังให้บูรณาการประสานความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท

กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ทั้ง 75 จุด (ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงมา) เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสำรวจตรวจสอบระบบอาคารชลประทานให้มีความพร้อมใช้งานตลอดเวลา การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในพื้นที่ภาคใต้ ทั้ง 16 จังหวัด อาทิ เครื่องสูบน้ำ 453 เครื่อง, เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่อง และเครื่องจักรกลอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 1,106 หน่วย ที่สำคัญให้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข่าวสารสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบข่าวสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการป้องกันหรือลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด


IMG20181009143209

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีทั้งหมด 6 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่, เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี, เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี และเขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญ เพื่อการบริโภค-อุปโภค เป็นอันดับหนึ่ง เพื่อระบบนิเวศและสำรองไว้ใช้ช่วงฤดูฝน ในเดือน พ.ค. ถึง ก.ค. ในปี 2562 ตามลำดับ พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ-เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) มูลนิธิปิดทองหลังพระ และกรมชลประทาน โดยให้โครงการชลประทานจังหวัดนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสั่งการลงไปยังระดับท้องถิ่นให้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณห้วย คลองบึง ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ ตามคู่มือฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อใช้เก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งให้ได้มากที่สุด


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก