ทางออกนอกตำรา : “เจ้าสัวเจริญ” มาโปรด บ่วงกรรมเงินกู้พิศดารกรุงไทย

20 ต.ค. 2561 | 13:25 น.
เจ้าสัว-1 1212

“โลกคือละคร ทุกคนต้องแสดง ทุกคนทนไป อย่าอาลัย ยิ้มกันสู้ไป จะได้สบาย”

เดือนกันยายน-ตุลาคม 2561 มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างฮือฮาและมาบรรจบกันอย่างไม่มีใครคาดคิด

4 กันยายน 2561 อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นฟ้อง "นายวิชัย กฤษดาธานนท์" อายุ 79 ปี ผู้บริหารกฤษดามหานคร, นายรัชฎา อายุ 52 ปี บุตรชาย พร้อมผู้บริหารรวม 6 ราย ที่ได้สมคบกันฟอกเงินที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อท.214/2561 ซึ่งจำเลยทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนคดีอยู่ระหว่างรอการสืบพยาน

10 ตุลาคม 2561 สำนักงานอัยการสูงสุด เห็นพ้องตามอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 สั่งฟ้อง พานทองแท้ ชินวัตร ในคดีร่วมกันฟอกเงินทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อพิศดารของธนาคารกรุงไทย ที่อนุมัติให้กับ กลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร 10,400 ล้านบาท ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

คอการเมือง นักการเมือง เรื่อยไปกระทั่งคนในซอยจันทร์ส่องหล้า ย่านบางพลัด ป้องปากซุบซิบกันว่า น่าสงสารจับใจ ในชะตากรรมของโอ๊ค-พานทองแท้
TV-2 ทุกคนหวั่นจะซ้ำรอยบิดา-ทักษิณ ชินวัตร และอา-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลยุติธรรมตัดสินลงโทษจนต้องหนีคดีไปต่างประเทศอีกคนหรือไม่?

16 ตุลาคม 2561 นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกระบวนการทำงานที่อัศจรรย์พันลึกว่า อัยการได้สั่งคดีเพื่อสั่งฟ้องนายมานพ ทิวารี ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้  เรียกว่า สั่งฟ้องคดีนายมานพ กันล่วงหน้า จนงุนงงสงสัยกันว่าเกิดอะไรขึ้นมากับ “สำนักงานอัยการที่เป็นต้นธารแห่งความยุติธรรม”

และที่เคยนัดนายมานพ มาในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 โน่น....ต้องฉีกใบนัดทิ้งใช่มั้ย...ท่านอัยการ

ความทุกข์ ความเศร้า ความเคียดแค้น ระทมใจ เบ่งบานออกไปในใจคน หลายระดับ...

แต่แล้วฟ้าที่มัวหม่น พลันกระจ่างใส เมื่อการประมูลที่ดิน 4,300 ไร่ บริเวณกิโลเมตรที่ 32.5 ถนนบางนา-ตราด ของบริษัท เอคิว เอสเตท (AQ) หรือบริษัท กฤษดามหานคร เดิม ใช้ในการค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย ราคาประเมิน 8,900 ล้านบาท ที่ติดกึกเดินหน้าไม่ได้มาหลายระลอก กลับพลิกผันในวันที่  17 ตุลาคม 2561
AQ-2 ที่ดินแปลงใหญ่ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินว่าจะมีราคา 6,744 ล้านบาท กลับขายออกไปได้ในราคา 8,914 ล้านบาท

ผู้ชนะประมูลที่แปลงดังกล่าวไปคือ บริษัท ทีอาร์เอ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่างบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 50% กับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และบริษัทนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด ถือหุ้นเท่ากันในสัดส่วน 25% โดยได้วางเงินมัดจำไว้แล้ว 448.5 ล้านบาท
090861-1927-9-335x503-8-335x503 เพิ่มเพื่อน

ตามสัญญาแล้ว ผู้ชนะการประมูลจะนำเงินที่เหลืออีก 8,465 ล้านบาท มาชำระภายใน 15 วัน แต่ผู้ซื้อสินทรัพย์ได้ขอขยายเวลาชำระเงินออกไป 105 วัน ครบกำหนดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้ธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะบันทึกเป็นรายได้ในไตรมาสที่ 1/2562
AQ-1 สถานการณ์ที่ผมยกมาเกี่ยวพันกันอย่างพอดิบพอดี...และทำให้ “บ่วงกรรม” เงินกู้พิศดารของธนาคารรัฐที่มีผู้รับกรรมต้องโทษคดีและถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกไปร่วม 25 คน จากที่ถูกฟ้องไป 27 คน เห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิดแห่งชีวิตและจิตวิญญาณที่อับเฉามายาวนาน

ทำไมเป็นเช่นนั้น...
พรอตที่ดินในมือเจริญ คดีการปล่อยกู้อันพิศดาร 10,400 ล้านบาทนี้ อัยการสูงสุดฟ้องว่า จำเลยทั้ง 27 คน มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สั่งการให้ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อตามที่เอกชนเสนอ โดยมีการเบียดบังยักยอกเงินให้แก่เอกชนโดยทุจริต ละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ เมื่อเอกชนได้รับสินเชื่อแล้ว ไม่นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ทำให้ประชาชน ผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงินของธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 27 คน ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ยังขอให้ร่วมกันคืนหรือใช้เงินคืน 10,054.46 ล้านบาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย
กรุงไทย1_0
ศาลฎีกาฯ ตัดสินไป 2 ฐานความผิด...ดังนี้ ความผิดทางอาญานั้น พิพากษาว่า จำเลยที่ 2-5, 8-27 กระทำผิดจริงในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ ให้จำคุก ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 2, นายวิโรจน์ นวลแข อดีต กก.ผจก.ธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 3, นายมัฌชิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 4 และนายไพโรจน์ รัตนะโสภา กรรมการสินเชื่อธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 12 คนละ 18 ปี ตามความผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทหนักสุด

จำเลยที่ 5, 8-11, 13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทยและกรรมการสินเชื่อให้จำคุกคนละ 12 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4 เช่นกัน

ส่วน นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 23, นายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 24, นายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของกฤษดามหานคร จำเลยที่ 25, นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 26 และนายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ จำเลยที่ 27 ซึ่งเป็นกลุ่มกรรมการผู้มีอำนาจเครือกฤษดามหานคร ให้จำคุกคนละ 12 ปี
กรุงไทย2 ความผิดทางแพ่ง พิพากษาให้ บมจ.กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20, นายวิชัย กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 25 และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 26 ร่วมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท ชดใช้ธนาคารกรุงไทยผู้เสียหาย

โดยให้นายวิโรจน์ อดีต กก.ผจก.ธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 3, บจก.แกรนด์ฯ จำเลยที่ 22 และนายไมตรี จำเลยที่ 27 ร่วมรับผิดการชดใช้เงิน 9,554,467,480 บาท

ให้จำเลยที่ 12-17, 21, 23 และ 24 ร่วมรับผิด 8,818,732,100 บาท ขณะที่จำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450 ล้านบาท และจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 8-11 และ 19 ร่วมรับผิดจำนวน 8,368,732,100 บาท

ดังนั้นเมื่อมีการประมูลที่ดินที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันออกไปได้ และมีการนำเงินมาชำระเงินธนาคารกรุงไทยได้ 10,004 ล้านบาท ความเสียหายของธนาคารที่เกิดจากการปล่อยกู้ก็ย่อมไม่บังเกิดขึ้นอีกต่อไป...

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการขอพระราชทานอภัยโทษ ของผู้ต้องคดีนี้จึงสว่างไสวในใจทันที

ไม่แน่ว่า อาจมีรัศมีทำการไปถึง พานทองแท้ และคณะที่ถูกฟ้องร้องฐานฟอกเงินด้วย เพราะเมื่อธนาคารกรุงไทยไม่มีความเสียหายทุกอย่างก็จบ...

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3411 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-24 ต.ค.2561
595959859