'สุวรรณภูมิ' ส่ออัมพาต! หวั่นสูญลงทุนแสนล้าน-ขยาย 4 รันเวย์ รับ 150 ล้านคน

18 ต.ค. 2561 | 09:57 น.
181061-1644

ผู้เชี่ยวชาญห่วงแผนแม่บทสุวรรณภูมิฉบับใหม่ ทอท. ลงทุนเฟส 4-5 อีก 1.4 แสนล้าน รับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี กระทบความปลอดภัยการบิน วิกฤติจราจรทางอากาศ เหตุเครื่องบินขึ้น-ลงทุกครึ่งนาที เกินศักยภาพรันเวย์

แผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฉบับ 2561 กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ภายหลังมีผู้ออกมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่เป็นไปตามแผนแม่บทที่กำหนดไว้ แต่ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจกว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร แต่กลับไม่ถูกพูดถึง คือ แผนการก่อสร้างรันเวย์ ที่คอยรองรับการขึ้นลงของเครื่องบิน

ก่อนเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ในปี 2549 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินการศึกษาขีดจำกัดด้านการจราจรทางอากาศและขีดความสามารถของรันเวย์ที่จะใช้ในการรองรับผู้โดยสารในอนาคตว่าเป็นอย่างไร


IMG_8896

แนะซื้อที่ดินสร้างรันเวย์ที่ 5
จากนั้น ทอท. ได้ว่าจ้างบริษัท ลีดดิ้ง เอดจ์ เอวิเอชั่น แพลนนิ่ง โปรเฟสชั่นนอลส์ฯ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เข้ามาศึกษา พบว่า รันเวย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่กำหนดไว้จำนวน 4 รันเวย์ รองรับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มได้ไม่มาก เพราะแต่ละรันเวย์มีระยะห่างกันไม่มาก จึงเสนอให้ ทอท. จัดหาที่ดินเพิ่มเพื่อสร้างรันเวย์ที่ 5 แต่ผ่านไป 12 ปี ทอท. กลับยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในเรื่องนี้

ผลการศึกษาระบุว่า ขีดความสามารถของรันเวย์ จำนวน 4 รันเวย์ ที่วางแผนไว้ภายใต้แผนแม่บทปี 2536 จะถึงจุดที่ "ไม่เพียงพอ" นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป รันเวย์ที่วางแผนไว้ใต้แผนแม่บทจะไม่สามารถรองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีถึงปีละ 100 ล้านคน จึงแนะนำให้มีการซื้อที่ดินทางทิศตะวันออกของสนามบินเอาไว้ เพื่อที่จะสามารถขยายพื้นที่สนามบินในอนาคต สำหรับการขยายรันเวย์ที่ 5


Slide 1

กังขาแผนแม่บทสุวรรณภูมิ
อดีตผู้เชี่ยวชาญในสำนักงานคณะกรรมการบริหาร การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาวางแผนและกำกับดูแลการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งข้อสังเกตกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากผลการศึกษาดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีการก่อสร้างรันเวย์ถึง 4 เส้น แต่ขีดความสามารถรองรับการขึ้นลงของเครื่องบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังมีอยู่จำกัด เพราะรันเวย์ทั้ง 4 เส้น อยู่ห่างกันไม่มาก ซึ่งมีผลต่อความปลอดภัยด้านการบิน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฉบับปี 2561 ที่กำหนดให้มี 4 รันเวย์ แต่กลับมีการกำหนดปริมาณผู้โดยสารสูงสุดไว้ที่ 150 ล้านคนต่อปี รองรับ 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมงนั้น ไม่สอดคล้องกับศักยภาพของรันเวย์ที่จะรองรับปริมาณการขึ้นลงของเครื่องบิน และอาจก่อให้เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ตามมาในอนาคต กล่าวคือ เครื่องบินต้องบินวนนานกว่าจะลงจอดได้

ตามแผนการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 4 และระยะที่ 5 ปี 2564-2573 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคน ทอท. ตั้งเป้าใช้เงินลงทุนประมาณ 140,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการก่อสร้างรันเวย์ที่ 4 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท


5b62d01506bd8a53b6c4928e25fa9b8a_L

ทอท. โต้ผลการศึกษาเก่า
นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการศึกษาก่อนการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ภายใต้โจทย์ในยุคที่รัฐบาลกำหนดให้มีการใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นซิงเกิล แอร์พอร์ต และจะปิดใช้สนามบินดอนเมือง โดยข้อมูลดังกล่าวดูได้เฉพาะขีดความสามารถสูงสุดในการขึ้น-ลงของเครื่องบินต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นการคำนวณตามสูตรในอดีตที่อิงกับเที่ยวบินช่วงพีกที่มีการเดินทางเข้าไทยในอดีต ก่อนเปิดใช้สนามบินกับข้อจำกัดของรันเวย์ แต่ปัญหา คือ ข้อมูลนี้ไม่ได้สะท้อนถึงรูปแบบการใช้งานจริงที่เป็นปัจจุบัน

เนื่องจากนับจากสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ พบว่า รูปแบบการบินเปลี่ยนไปจากในอดีต จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ขนาดของอากาศยานที่ใหญ่ขึ้น และ 2.การใช้รันเวย์ในช่วง 24 ชั่วโมงต่อวัน มีการขยายไปใช้ในช่วงออฟพีกมากขึ้น ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้มีผลต่อการคำนวณจำนวนผู้โดยสารที่จะใช้สนามบินที่จะต้องนำมาคำนวณด้วย และแผนแม่บทการพัฒนาสนามบิน ทอท. ก็ต้องพิจารณากระบวนการทั้งระบบ เช่น ด้านแลนด์ไซด์ (พื้นที่นอกเขตการบิน) ประกอบการขยายสนามบินด้วย ไม่ใช่ดูแต่ด้านแอร์ไซด์เพียงอย่างเดียว


MP22-3405-A

มั่นใจบริหารเที่ยวบินได้
นอกจากนี้ ทอท. ยังได้ว่าจ้างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ศึกษาปรับปรุงแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2552 ระบุว่า สนามบินสุวรรณภูมิจะขยายได้สูงสุด 4 รันเวย์ 2 เทอร์มินัล รองรับผู้โดยสารได้ 135 ล้านคน สำหรับการบริหารจัดการแบบ Dual Airport ต่อมาก็มีการจ้าง ICAO ศึกษาอีกครั้ง ในปี 2554 ซึ่งตอนนั้น ICAO เสนอว่าจะต้องพัฒนา 3 เทอร์มินัล 5 รันเวย์ รองรับผู้โดยสารได้ 135 ล้านคน กระทั่งในปี 2558 และบอร์ด ทอท. อนุมัติในปี 2561 โดยยึดการตัดสินใจการขยายสนามบินโดยอิงจากผลการศึกษาของ ICAO ที่ทำการศึกษาไว้ 2 ครั้ง เมื่อปี 2552 และ 2554 แต่เลือกให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเลือกที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารทั้งหมด 3 หลัง ในการรองรับผู้โดยสารได้ 135 ล้านคน แต่จะสร้าง 4 รันเวย์เท่านั้น รองรับ 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รองรับได้ 150 ล้านคน ซึ่งการเพิ่มการรองรับจาก 135 ล้านคน ขึ้นอีก 15 ล้านคน ทอท. ประเมินจากข้อมูลการบริหารจัดการสนามบินในปัจจุบัน พบว่า มีความเป็นไปได้แน่นอน


P1-LINE-3410

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,410 วันที่ 18 - 20 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ขยายสุวรรณภูมิ AOT ต้องรอบคอบ
เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ : รถไฟฟ้ารางเบา บางนา-สุวรรณภูมิ มีลุ้นกทม.เริ่มผลักดันโครงการ


เพิ่มเพื่อน
595959859