"เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์" กับมุมที่อยากเห็น คนสองวัยเดินไปด้วยกัน

11 ต.ค. 2561 | 14:02 น.
[caption id="attachment_331661" align="aligncenter" width="503"] เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์[/caption]

ในบรรดาคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เตรียมลงชิง ชัยในสนามการเมือง “เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์” เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงเป็นคนแรกๆ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นลูกชาย “ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” นักคิดนักเขียนด้านการเมือง เจ้าของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยเท่านั้น

แต่หนุ่มนักเรียนนอกคนนี้ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่โฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และเป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสโมสรผู้นำเยาวชนพรรคและฝ่ายอำนวยการพรรค ซึ่งเป็นภารกิจท้าทายสำหรับคนที่เพิ่งเข้าสู่เส้นทางการเมือง

“เขตรัฐ” ปัจจุบันอายุ 29 ปี จบมัธยมต้นจากสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเรียนต่อไฮสกูลที่สหรัฐฯ สำเร็จปริญญาตรีบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย คอมมอนเวลธ์ จากนั้นมาศึกษาปริญญาโทการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหนานไค สาธารณรัฐประชาชนจีน กลับมาเป็นอาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

“เขตรัฐ” เริ่มบทสนทนากับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คุณพ่อ (ศ.ดร.เอนก) เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจให้เดินเข้าสู่เส้นทางการเมือง เรียกว่าเป็นไอดอลทางการเมืองเลยก็ว่าได้ แต่ยังมีแรงจูงใจอื่นที่เป็นองค์ประกอบ เป็นเหตุจากชีวิตของเราที่ได้มีโอกาสได้เจอมาหลายขั้นตอน

จุดหนึ่งที่ทุกคนบ่นเหมือนกันคือ ปัญหากับระบบที่เยอะมาก  วนไปวนมา ต้องทำงานภายใต้กติกาและระบบเดิมๆ ถ้าไม่สามารถ กำหนดทิศทางอะไรได้ รู้สึกว่ามันมีปัญหา มันไม่เคลื่อน และจากที่เป็นส่วนหนึ่งในมหาวิทยาลัย ก็คล้ายๆ กับในส่วนราชการอื่นๆ ที่ทำงานแล้วจะมีปัญหา

และแรงจูงใจอีกส่วนหนึ่งเกิดจากช่วงที่ลงพื้นที่ไปเจอกับบรรดาวิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่อยู่นอกเมือง

“ผมไม่อยากเป็นเพียงแค่ผู้ตามนโยบาย ผมต้องการเป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตอนที่จบจากนอก “Mindset” ตอนที่กลับมาเมืองไทยแรกๆ ก็ไม่เห็นไทยที่เป็นไทย ความเข้าใจของเราก็คือ เมืองไทยก็คือกรุงเทพฯ

เวลาจะทำอะไร เช่น ทำเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย เราก็ต้องการให้ทันสมัย เขียนก็ต้องมีภาษาอังกฤษให้เยอะที่สุด มีรูปร่างหน้าตาให้ดูเท่เหมือนต่างชาติ แต่ด้วยความดูเท่ ดูโก้ ด้วยจริตที่เราชอบมันเป็นการไปกีดกันการเข้าถึงความเข้าใจของคนที่มีอยู่อีกหลายคนมากในประเทศไทย อันนี้ก็เป็นการเปิดโลกของเรา ทำให้เราทราบว่า เมืองไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ”
S__12148770
ผสานแนวคิดเพื่อคนสองวัย

นอกจากความสนใจทาง การเมืองที่ฝังอยู่ในสายเลือด เขตรัฐ เล่าว่า ได้เจอกับอีกหลายอย่าง หลายเรื่องราวที่ทำให้รู้สึกว่าควรลุกมาทำอะไรบางอย่างที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น การเป็นอาจารย์แม้จะออกมาเรียกร้องและรณรงค์อะไรต่ออะไรได้ แต่กลับต่อสู้เพื่อคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้

แน่นอนว่า "เขตรัฐ" กำลังพูดถึงความแตกต่างของคนรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ต้องอยู่ร่วมกันบนความเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้คนสองวัยมีความคิดต่างกัน มองอะไรไม่เหมือนกัน รับสื่อไม่เหมือนกัน

“ผมมองว่า ณ นาทีนี้มันอาจจะมีปัญหาได้ ถ้าเด็กมุ่งหน้าจะพัฒนาโลกให้เป็นโลกของเด็ก เราจะทิ้งผู้สูงอายุที่เรากำลังจะก้าวไปสู่โลกของผู้สูงอายุที่มีจำนวนมหาศาล อันนี้เป็นสิ่งที่ผมกังวลมาก”

หลังได้รับมอบหมายให้ทำสโมสรผู้นำเยาวชนของพรรค ระหว่างที่ไปลงพื้นที่ทำสโมสรผู้นำเยาวชน เขตรัฐ ก็พบว่าอีกสโมสรหนึ่งที่น่าทำคือ “สโมสรแม่บ้าน” และ “สโมสรผู้สูงอายุ” ที่เกษียณออกมาก็ไม่รู้จะทำอะไร ขณะที่อายุก็มากขึ้นเรื่อยๆ เขตรัฐจึงมาจับงานด้านเกษตรอินทรีย์ ควบคู่กับการจัดตั้งสโมสรผู้นำเยาวชน เพื่อคนสองวัยเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง

คนที่เกษียณออกมาแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร ขณะที่อายุก็มากขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ในระหว่างที่พยายามผลักดันดิจิตอล อีโคโนมี เขาไม่ได้ให้ความรู้ หรือติดเครื่องมือให้คนอีกเจเนอเรชันหนึ่ง ที่ไม่ค่อยเข้าใจเทคโนโลยีเท่าใดนัก ถ้ายังผลักดันดื้อๆ อย่างนี้ ผมกังวลมากว่า เรากำลังทิ้งประชากรจำนวนมาก

ถ้าผลักดันเกษตรอินทรีย์ให้ทำได้จริงๆ แล้วมีตลาดรองรับ จะเป็นการดึงลูกหลานของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าตามพื้นที่ต่างๆ ให้กลับสู่บ้านเกิด และเปลี่ยนผันตัวเองให้กลายเป็นผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่จะเข้าใจการขายสินค้าในอินสตาแกรม ในเฟซบุ๊ก เขาจะสามารถพัฒนาวิธีทำการเกษตรได้ ถ้ากลับไปงานด้านเกษตรในท้องถิ่นตนเอง
S__12148771 ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

ในฐานะประธานสโมสรผู้นำเยาวชนพรรค รปช. เขตรัฐอยากเห็นสภาเยาวชน ไม่เป็นเพียงสโมสรผึ้งน้อย แต่ฝันว่าในยุคที่เปลี่ยนไป เยาวชนต้องมีสิทธิกำหนดนโยบายเอง เพราะเด็กสมัยนี้มีศักยภาพมากกว่าที่ผู้ใหญ่เข้าใจ และเยาวชนเหล่านี้จะต้องมาใช้ชีวิตอยู่กับมันด้วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะฉะนั้นต้องมีพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ด้วย

การร่างนโยบายอันดับแรกนึกถึงการเรียนการสอน ทุกวันนี้เราถูกตัดสินด้วยใบปริญญา และสถาบันโดยที่ไม่ได้มองว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพอย่างไร ทำให้เกิดความเหลื่อมลํ้ามาในระดับหนึ่ง คิดว่าการศึกษาสมัยใหม่คือ การติดเครื่องมือหรือติดทักษะให้มากกว่า ทุกวันนี้เรากำลังผลิตบัณฑิตที่ตลาดแรงงานไม่ต้องการ ทำให้ภาครัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ต้องเสียงบประมาณในการฝึกเพื่อให้เข้ารูปเข้ารอยการทำงาน

“ถ้าเป็นไปได้อยากยก ปวช.,ปวส. และอาชีวศึกษา และ วิทยาลัยการเกษตร เหล่านี้ขึ้นมาเพิ่มเวลาทำหลักสูตร ส่วนอันเดิมที่มีอยู่ก็ไม่ใช่ไม่ดี แต่เราต้องต่อยอด โดยการดึงภาคเอกชนและภาครัฐมามีส่วนร่วม เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้พร้อมที่จะเข้าไปอยู่ทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความกระเพื่อมและให้ประเทศเติบโต”

ในมุมการเมือง เขตรัฐมองว่า ทฤษฎีการเมืองในขณะนี้ มันไม่เป๊ะ เหมือนทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ที่ช่วงนั้นสามารถสะท้อนได้ชัดเจน ผมรู้สึกว่าสองนครามันเปลี่ยนไป ด้วยวิวัฒนาการของโลก หลักๆ มองว่าด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่มันเข้าถึงกันได้ง่าย ทำให้ทฤษฎีสองนคราเปลี่ยนไป แต่ก่อนจะดำเนินการแต่ละทีต้องเป็นจดหมาย เป็นโทรศัพท์ แต่ตอนนี้การสื่อสารเป็นไลน์ และอื่นๆ อีกมาก ทำให้การสื่อสารเข้าถึงคนเยอะ

“ผมเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ยังมีอุดมการณ์ แต่อุดมการณ์ของผมไม่ได้อยู่บนบรรทัดฐานที่เรียกว่าเอาทฤษฎีเสรีนิยมประชาธิปไตยมาวัดความเป็นไทย ผมมองหาแก่นที่จะมารวมคนไทยเข้าด้วยกันจริงๆ นี่คือสิ่งสำคัญที่ผมคิดจะทำ ซึ่งตรงนี้ผมยังต้องศึกษาอีกเยอะมาก เพราะคนไทยตอนนี้จริตไม่เหมือนกัน

แต่สิ่งที่ผมเป็นกังวลที่สุดคือ รู้สึกว่าช่วงหลังๆ ระบบที่เราใช้กันอยู่ เกิดการก่อตัวที่เรียกว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง พอเงินซื้อได้ทุก อย่างศีลธรรมหาย จริยธรรมหาย นี่คือสิ่งที่ผมอยากกระเพื่อมใน กลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้เขาตระหนักตรงนี้” เขตรัฐ ทิ้งท้าย

| สัมภาษณ์พิเศษ
| โดย : ดารารัตน์ มหิกุล โต๊ะข่าวการเมือง
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3408 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.2561

595959859