"หุ้นกลุ่มอสังหาฯ" สะเทือน! "SC-SIRI" อ่วมเกณฑ์ใหม่คุมปล่อยกู้ สต๊อกบ้านหรูล้น

07 ต.ค. 2561 | 11:02 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

โบรกเกอร์มองมาตรการแบงก์ชาติคุม LTV 80% ชี้ SC และ SIRI กระทบมากสุด มีบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาทสัดส่วนสูง โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ชอบหุ้น QH แต่เชื่อกระตุ้นยอดโอนบ้านปลายปีพุ่งหนีเกณฑ์ใหม่ ... บล.ไทยพาณิชย์ฯ มอง LPN, SPALI และ SIRI จะได้ประโยชน์มากสุด ... บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ มองกระทบกำไร 0.5-6.3% ในปี 2562

จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่กำหนดให้การกู้เงินซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป หรือ ที่อยู่อาศัยมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน โดยจะจัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 11 ต.ค. นี้ และมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2562

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัสฯ ให้ความเห็นว่า อาจเห็นผู้ประกอบการเร่งขายและโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อให้ทันใช้เกณฑ์เดิมภายในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมองว่า ส่งผลกระทบค่อนข้างจำกัด แม้จะควบคุมทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม แต่ปัจจุบัน การวางเงินดาวน์ได้กำหนดไว้ 15-20% อยู่แล้ว โดยที่อยู่อาศัยราคาเกิน 10 ล้านบาท ก็กำหนดเงินดาวน์เกิน 20% เช่นกัน


mp17-3407-a

โครงการที่รอรับรู้รายได้ที่ร่วมกับโครงการรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) สิ้นเดือน มิ.ย. 2561 อยู่ที่ 332,000 ล้านบาท เป็นส่วนที่รอรับรู้รายได้ช่วงครึ่งหลังปีนี้ 116,000 ล้านบาท แยกเป็นของบริษัท 81,000 ล้านบาท และ JV 35,000 ล้านบาท คาดว่าจะถูกแปลงเป็นยอดโอนเร็วขึ้น ผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มที่ทำคอนโดมิเนียม และเก็บเงินดาวน์ตํ่ากว่า 20% ซึ่งส่วนใหญ่เจาะตลาดลูกค้ากลางลงล่าง แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการน่าจะปรับตัว โดยให้เวลาผ่อนดาวน์ยาวขึ้น ส่วนแนวราบไม่กระทบมากนัก เนื่องจากผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไรน้อย

"เชื่อว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ เช่น แนวราบจะเพิ่มสัดส่วนบ้านสั่งสร้าง หรือ สร้างก่อนขาย ส่วนคอนโดมิเนียมจะเปิดขายเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องพร้อมทุกอย่างแล้วค่อยเปิดขาย รวมถึงผู้ประกอบการจะกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มมากขึ้น"


โลโกแสนสิริ

บล.เอเซียพลัสฯ แนะนำหุ้นอัตราผลตอบแทนสูงอย่าง LH, QH, และ SC
บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ระบุว่า จากเกณฑ์ LTV 80% ของ ธปท. คาดว่าจะกระทบประมาณการกําไรของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 0.5-6.3% ในปี 2562 ซึ่งถือว่ากระทบไม่มากนัก คาดว่า บริษัทที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SC) และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) เนื่องจาก SC มีที่อยู่อาศัยระดับราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ประมาณ 63% ของมูลค่าโครงการที่เหลืออยู่ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่ม ส่วน SIRI มีสัดส่วนบ้านหลังที่สองประมาณ 40% ของพอร์ต มองว่าราคาในปัจจุบันน่าจะรับรู้ผลกระทบจากมาตรการใหม่แล้ว แนะนำ SPALI และ QH


โลโกsc

บล.ไทยพาณิชย์ฯ ระบุว่า มาตรการ ธปท. สร้าง Sentiment เชิงลบต่อกลุ่มที่อยู่อาศัยและกลุ่มธนาคาร ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะตลาดอสังหาฯ และการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวในปีหน้า อย่างไรก็ตาม จะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น ก่อนหลักเกณฑ์นี้มีผล เนื่องจากจะเกิดการเร่งโอน โดยฝ่ายวิจัยฯ คาดว่า LPN, SPALI และ SIRI จะได้ประโยชน์ที่สุด และการขอสินเชื่อเร่งตัวขึ้นก่อนสิ้นปี แนะนำหุ้น LH และ QH ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยจากมาตรการนี้ เนื่องจากเน้นตลาดบ้านแนวราบและกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน

บล.กรุงศรีฯ ระบุว่า LH และ QH จะได้รับผลกระทบมากสุด เพราะมีบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ขายเป็นสัดส่วน 40-50% แนะนำหุ้นเด่น ANAN และ SPALI

บล.เคทีบีฯ ระบุว่า มาตรการของ ธปท. ไม่รุนแรงเหมือนที่ตลาดคาดการณ์ มองว่า ANAN, ORI, AP และ SPALI ได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีหลายโครงการที่ราคาเกิน 10 ล้านบาท และมีคอนโดฯ ที่รอโอนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าค่อนข้างมาก นอกจากนั้น บางส่วนยังมาจากการซื้อของกลุ่มนักลงทุน (การซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไป) ที่อาจชะลอตัวลงได้หลังประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งทำให้มองว่า มีความเสี่ยงที่ผลการดำเนินงานในปีหน้าอาจชะลอตัวมากกว่าคาดได้ ส่วน LPN, PSH และ GOLD ไม่กระทบมากนัก เพราะโครงการส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลาง-ล่าง ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มที่ธนาคารค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง หุ้นที่น่าจับตาในกลุ่มนี้ ได้แก่ LPN ราคาเป้าหมาย 11 บาท และ QH ราคาเป้าหมาย 3.80 บาท

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,407 วันที่ 7-10 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว