ทางออกนอกตำรา | ปรากฏการณ์ "อนุทิน-ซิโน-ไทย" ไฉนโหมโรง ... โจมตีอีอีซี

12 ก.ย. 2561 | 10:42 น.
120961-1714

ผมเป็นคนชอบดูการเล่นประเภท "โหมโรง" ก่อนการแสดงจริงจะบังเกิดมาตั้งแต่เด็ก เพราะมันสนุก ถึงลูกถึงคนเร้าใจดี ก่อนลิเกจะเริ่ม ก็มักมีการ "โหมโรง" ด้วยดนตรีที่มีท่วงทำนองคึกคัก มีตัวตลกมาเรียกแขก ดึงคน

ก่อนที่มโนราห์ หนังตะลุง จะออก "รูปหน้าบท" ศิรวาทบรมครู ดนตรี ปี่ ฉิ่งฉับ กลับ ฆ้อง โหม่ง จะอึกทึกครึกโครมให้ผู้คนต้องทิ้งการงานเร่งเท้ามานั่งเฝ้าหน้าเวที

ก่อนการเลือกตั้งจะบังเกิด ในทางการเมืองก็มักจะมีเรื่องมัน ๆ ของบรรดา "นักการเมือง-นักกินเมือง" ให้กล่าวขาน ขบคิด ตลอดจนขบขันกันทั้งเมืองอยู่เป็นเนืองนิตย์

เห็นมั้ยละครับว่า การเฝ้าชมดนตรี มโนราห์ ลิเก การเมือง ในช่วงโหมโรงก่อนการแสดงจริงนั้น มันช่างระทึกในฤทัยคนแค่ไหน

ในทาง "การข่าว" ผมอาจจะไม่เชี่ยวชาญในกลเกม "ทางการเมือง" เท่ากับบรรดานักข่าวการเมืองที่เชี่ยวกรากในสนามรัฐสภาไทย แต่ในเรื่องกล-เกม "เศรษฐกิจการเมือง" แล้วละก็ ผมก็ไม่แพ้ใครในสนามข่าวแน่ ...

วันนี้ผมพามาดูการโหมโรงของลิเกคนละเรื่อง แต่ผลประโยชน์เดียวกัน ที่ท่านทั้งหลายจะต้องซี้ดปาก อึ้ง ทึ่ง เสียว

ฉากแรกเริ่มต้นที่ ... ผลสรุปการเปิดซื้อซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 2.3 แสนล้านบาท มีผู้ซื้อซองประมูลรวม 31 ราย เป็นบริษัทไทย 16 ราย สาธารณรัฐประชาชนจีน 7 ราย ญี่ปุ่น 3 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย อิตาลี  1 ราย และมาเลเซีย 2 ราย


appMAP-3193


ขาใหญ่ในไทยที่สนใจประมูลต้องบอกว่ามากหน้าหลายตา บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งฯ ของเจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ บริษัท กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งฯ ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ ของเจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ฯ อันนี้มาในนามของเครือ ปตท.

บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นฯ ของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) บริษัท ช.การช่างฯ ของเจ้าสัวปลิว ตรีวิศวเวทย์ และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด ของเจ้าสัวประชัย เลี่ยวไพรัตน์

ขณะที่ บรรยากาศการชิงเค้กก้อนโตกำลังคึกคักนั้น ลิเกฉากหนึ่งก็บังเกิดขึ้น เมื่อ “2-3 เจ้าสัว” ต่อรอง ตกลงกันไม่ได้ ในเรื่องการถือครองหุ้นรถไฟฟ้า จึงเกิดการบีบบังคับให้ "รัฐวิสาหกิจไทย" สลับขั้ว สลายค่าย "เจ้าสัว" จะได้งานคล่องคอโดยไม่มีตัวแปรใดมาขวาง และนั่นหมายถึงการตัดทิ้ง "พันธมิตรเดิมที่เคยสัญญากันไว้"

ไม่รู้ว่าใครจะตัดใคร แต่มีเรื่องราวการเข้า "เตะสกัด" ที่หนักหน่วง เลื่องลือ ล่องลอยอยู่ตาม อีลิท คลับ ที่กินดื่มของเศรษฐีเมืองไทยว่า กำลังมีการจัดระเบียบการประมูลงานใหญ่ในอีอีซี การวิ่งเต้นก่อนการเปิดประมูลเดือนพฤศจิกายนนี้ จึงฝุ่นตลบอบอวล


609254797


1 กันยายน 2561 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความคุ้มค่าการใช้งบประมาณมหาศาลสร้างรถไฟความเร็วสูง และโครงการอีอีซี ว่า ไม่ได้ปฏิเสธการสร้างรถไฟความเร็วสูงและโครงการอีอีซี แต่ต้องการนำเม็ดเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้คนรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง มีการศึกษาที่ดีขึ้น เป็นรากฐานและกำลังการผลิตที่สำคัญของชาติ เมื่อคนเข้มแข็ง ชาติเข้มแข็ง จากนั้น จึงค่อยพัฒนาต่อยอดในส่วนอื่นต่อไป

"ไม่ใช่ผมจะไม่ทำรถไฟความเร็วสูงหรือยุบอีอีซี แต่ผมต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนโดยรวมก่อน ประเทศไทยป่วยมานาน เพิ่งออกจากห้องไอซียู ก็ควรจะค่อย ๆ ฟื้นฟูสภาพด้วยการทำกายภาพบำบัดให้ทรงตัวได้มั่นคงก่อน จากนั้น ก็เริ่มเดินให้เร็วขึ้นแล้วจึงวิ่ง ไม่ใช่ออกมาแล้ววิ่งเลย แล้วก็ต้องล้มอีก เที่ยวนี้อาจไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาอีกก็ได้ ...

ผมถามว่า รถไฟความเร็วสูง ใครจะเป็นผู้โดยสาร ในเมื่อคนชนบทส่วนใหญ่มีรายได้จากภาคเกษตรที่ไม่แน่นอน บางช่วงผลผลิตราคาตกต่ำ ขอให้ผมไปหาผู้โดยสารมาให้ก่อนจะดีหรือไม่

ผมถามว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใน กทม. อีกหลายเส้นทาง ทั้งที่ตอนนี้การจราจรใน กทม. ติดไปทุกเส้นทาง ยังไม่พออีกหรือ ผมไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาประเทศ

แต่ผมเห็นว่า โครงการอีอีซีมีบุคลากรในเทคโนโลยีชั้นสูงหรือยัง เราควรจะนำเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท มาพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศให้มีความพร้อมก่อนจะดีกว่าหรือไม่ ลูกหลานเป็นหนี้ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวออกจากรั้วสถาบันการศึกษา จำนวนหลายล้านคน เป็นเงินหลายแสนล้านบาท กำลังทยอยไปสู่กระบวนการทางกฎหมายฟ้องร้องบังคับคดี ถูกหักเงินเดือน ถูกยึดที่ทำกิน ถูกยึดรถ ยึดบ้าน ขายทอดตลาด

ผมจึงเห็นว่า เราควรต้องกลับมาจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศเสียใหม่" นายอนุทิน ระบุ

เป็นวาทะของนักการเมืองชั้นดี ที่น่าสนใจ ต่อมา อนุทิน ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการอีอีซี ในวันที่ 9 กันยายน 2561 อีกว่า ไม่เคยคัดค้านอีอีซี เพราะถือว่าเป็นการดึงดูดเม็ดเงินให้เข้ามาในประเทศไทย มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแน่นอน แต่สิ่งที่อยากแนะนำ คือ ในเมื่อกฎระเบียบในอีอีซีเอื้อให้เกิดการลงทุน ทั้งการปรับระยะเวลาการอนุมัติทั้งหลาย ที่ต้องจบภายใน 120 วัน กฎบีโอไอก็ควรจะนำกฎเกณฑ์นี้ไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น เพื่อให้เกิดความน่าลงทุนอย่างเท่าเทียม ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ เพื่อกระจายความเจริญออกนอกเมืองใหญ่


609254803


ดูดี มีสาระ ฝากอนาคตได้ใช่มั้ยครับ แต่นักการเมืองนี่เขาว่า ปากคอเชื่อถือไม่ได้ เข้าข่าย มือถือสากปากถือศีล หาไม่ก็ประเภท ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ

ผมติดตามอ่านเรื่องนี้ด้วยความมึนงง สงสัยว่า ถ้าคุณอนุทินไม่เห็นด้วยกับโครงการอีอีซี ที่เป็น 1 ในยุทธศาสตร์ไทยที่จะดึงการค้า การลงทุน การพัฒนาประเทศไทยไปอีกก้าวหนึ่งในอนาคต แล้วคุณอนุทิน ในฐานะเจ้าของตัวจริงเสียงจริงในบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่นฯ ให้บริษัท ซิโน-ไทยฯ ไปซื้อซองประมูลโครงการนี้ทำไมกัน

ใช่เพราะโครงการนี้ สามารถทำเงิน ทำกำไรในทางธุรกิจหรือไม่

ใช่เพราะเห็นโอกาสที่มาพร้อมกับอีอีซี หรือไม่

ใช่ว่า กลุ่มซิโน-ไทย กำลังถูกตัดออกจากสารบบกลุ่มที่จะเข้าประมูลรถไฟฟ้า 2.3 แสนล้านบาทหรือไม่ครับ

คนที่ทำธุรกิจผิดกับหลักการแบบนี้ ใช่ ปากปราศรัย นํ้าใจเชือดคอ หรือเปล่าครับ ...


……………….
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา โดย บากบั่น บุญเลิศ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,400 วันที่ 13-15 ก.ย. 2561 หน้า 06

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● ทางออกนอกตำรา : ปิดฉากเก็บภาษีที่ดินฯ? ‘นายกฯลุงตู่’ ช่วยตอบหน่อย...
● ทางออกนอกตำรา : "พล.อ.อภิรัชต์" ครับ เลิกกินตับคนไทย รู้มั้ย..กำไรสลากเกินราคาปีละ2หมื่นล้าน


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62