บิ๊กล้อยางรถยนต์โลกแห่ยึดฐานไทยผลิต

16 ก.พ. 2559 | 05:00 น.
ผู้ประกอบการนิคมฯแข่งดึงค่ายยางรถยนต์ระดับโลกปักฐานในไทย เล็งเพิ่มการใช้ยางปีละ 1 ล้านตัน ช่วยลดการส่งออกวัตถุดิบ เพิ่มมูลค่าส่งออกยางแปรรูปอีกมหาศาล "หลักชัยเมืองยาง-อมตะ-เหมราช"เนื้อหอมรายใหญ่รุมตอม คาดทั้งรายเก่า-รายใหม่กำเงินลงทุนในไทยแล้วกว่า 1 แสนล้าน ชี้หากเศรษฐกิจโลกฟื้น แข่งขยายกำลังผลิตได้อีก 40-50% "หลักชัย"แย้ม อยู่ระหว่างเจรจาดึงอีกหลายค่ายยางรถจากยุโรป-ญี่ปุ่นลงทุน ขณะ 3 ชาติดีเดย์ถกลดส่งออกยาง ดันราคา 26 ก.พ.นี้

จากที่ราคายางพาราซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทยราคาตกต่ำในขณะนี้ รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนทั้งการจ่ายเงินช่วยเหลือ 1.5 พันบาทต่อไร่ การซื้อยางในราคานำตลาดเป้าหมาย 1 แสนตัน ล่าสุด 3 ชาติประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้จับมือที่จะลดการส่งออกยาง 6.15 แสนตัน(มี.ค.-ส.ค.2559) อย่างไรก็ตามในการแก้ไขปัญหาระยะต่อไป นอกจากการลดซัพพลายยาง ปลูกพืชอื่นและทำอาชีพเสริมแล้ว การดึงต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานยางล้อรถยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปอื่นๆ เพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญที่จะช่วยลดความผันผวนของราคายางได้

[caption id="attachment_31571" align="aligncenter" width="346"] หลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย หลักชัย กิตติพล
นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย[/caption]

ค่ายจีน-ญี่ปุ่น-ยุโรปแข่งปักฐาน

นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทรเบคก้า เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง มีที่ตั้งที่อำเภอเมืองจังหวัดระยอง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การดึงโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่จากต่างประเทศมาตั้งโรงงานในไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบยางอันดับ 1 ของโลกถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ลดการส่งออกวัตถุดิบ แต่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกยางล้อรถยนต์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มได้อีกมหาศาล

ทั้งนี้ในส่วนของนิคมฯหลักชัยเมืองยางในเฟสแรก 2.200 พันไร่ ได้พัฒนาพื้นที่ไปแล้วประมาณ 80% ล่าสุดได้ดึงบริษัท เซ็นจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย)จำกัด ในเครือชิงเต่า เซ็นจูรี่ไทร์ หนึ่งในผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ของจีนมาลงทุนตั้งโรงงานแล้ว บนพื้นที่ 138 ไร่ ความคืบหน้าล่าสุดทางบริษัทได้เริ่มผลิตยางรถยนต์แล้วในปริมาณ 1 หมื่นเส้นต่อวัน และเป้าหมายสูงสุดที่ 12 ล้านเส้นต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดจะผลิตได้เต็มกำลังการผลิตในเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางไทรเบคก้าฯได้เซ็นสัญญาขายที่ดิน 300 ไร่ให้กับบริษัท อพอลโล ไทร์ส จากอินเดีย เพื่อตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์เป้าหมายขั้นแรกประมาณ 6 ล้านเส้นต่อปี ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าของการลงทุน คาดทางอพอลโลคงรอจังหวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ซึ่งจะได้ติดตามลูกค้ารายนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากค่ายยางรถยนต์ 2 ค่ายจากจีนและอินเดียที่จะมาลงทุนในนิคมฯหลักชัยเมืองยางแล้ว ล่าสุดมีโรงงานผลิตหมอน และที่นอนจากยางพาราของจีนอีก 2 รายได้เซ็นสัญญาซื้อที่ดินจากเรา และจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในปลายเดือนนี้

"ขณะที่ทางหลักชัยเมืองยางยังอยู่ระหว่างการเจรจากับค่ายยางรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น และยุโรปที่ยังไม่มีโรงงานในไทยให้เข้ามาตั้งอีกหลายราย ยังไม่ขอเผยในรายละเอียด รวมถึงดึงโรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับยางรถยนต์ เช่นเหล็ก ลวดต่างๆ มาตั้งในลักษณะเป็นคลัสเตอร์เพื่อลดต้นทุน ซึ่งในส่วนของโรงงานยางรถยนต์ที่จะดึงมาตั้งนี้มีความเป็นไปได้มากกว่า 50% หากเราขายพื้นที่ดินเฟสแรกได้ 80% มีแผนจะพัฒนาพื้นที่ในเฟสที่ 2 ที่อยู่ติดกันอีก 5 พันไร่ คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้าน จากเฟสแรกลงทุนประมาณ 5 พันล้าน"

แข่งผุดนิคมฯแปรรูปยาง

นายหลักชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้ไทยได้รับความสนใจในเรื่องการลงทุนด้านยางรถยนต์ โดยที่ลงทุนแล้วได้แก่ค่ายซูมิโตโม และค่ายโยโกฮามา และค่ายจุงเช่อ ลงทุนที่นิคมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง, ค่ายบริดจสโตนลงทุนที่จังหวัดระยอง ชลบุรี สระบุรี และสมุทรปราการ ,ค่ายมิชลินลงทุนที่จังหวัดสระบุรี,ค่ายหลิงหลงลงทุนที่นิคมฯเหมราช จังหวัดระยอง เป็นต้น โดยภาพรวมแต่ละโรงงานจะใช้เงินลงทุนระหว่าง 5 พันล้าน-1.5 หมื่นล้านบาทต่อโรง รวมมูลค่า ณ ปัจจุบันคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ละโรงใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 50-60% หากในอนาคตอันใกล้เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัว การใช้ยางรถยนต์เพิ่มขึ้น ทุกรายจะขยายกำลังการผลิตแน่ โดยคาดจะใช้ยางวัตถุดิบในไทยในอีก 3 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 8 แสนตัน และอนาคตจะเพิ่มถึง 1 ล้านตันแน่นอน

"ล่าสุดทางนิคมอมตะซิตี้ของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ มีแผนจะตั้งนิคมฯยางพาราหรือรับเบอร์ซิตี้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งหากทำสำเร็จจะใหญ่กว่าเราอีก เพราะมีพื้นที่กว่า 8 พันไร่ จะช่วยเพิ่มการใช้ยางในประเทศได้อีกมาก"

ยางรถยนต์ใช้ยางมากสุด

สอดคล้องกับดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ที่กล่าวว่า ในปี 2558 ไทยมีการผลิตยางพาราที่เป็นวัตถุดิบ 4.3 ล้านตัน ในจำนวนนี้ส่งออกสัดส่วน 87% หรือประมาณ 3.74 ล้านตัน และใช้ในประเทศประมาณ 5.6 แสนตัน โดยสัดส่วน 60% ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก(ดูตารางประกอบ) รองลงมาผลิตเป็นยางยืดสัดส่วน 14% ถุงมือยาง 10% ถุงยางอนามัย 1% ที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปอื่นๆ ซึ่งจากสัดส่วนการใช้ยางในการผลิตยางรถยนต์ที่มากกว่าสินค้าอื่น ๆ หากดึงโรงงานยางรถยนต์มาตั้งฐานผลิตในไทยได้เพิ่ม ก็จะช่วยลดผลกระทบการส่งออกยางวัตถุดิบยางที่เวลานี้ราคาผันผวนในทิศทางขาลง และส่งผลกระทบต่อราคายางในประเทศที่ตกต่ำได้ระดับหนึ่ง

"ที่เราห่วงและต้องจับตามองคือค่ายยางรถยนต์จากจีนที่โรงงานผลิตในจีนและส่งออกไปสหรัฐฯถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) โดยขึ้นภาษีนำเข้า 30-40% เพราะขายในราคาต่ำกว่าราคาในประเทศ ซึ่งการที่เขามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต หากส่งออกในราคาดัมพ์ตลาด ไทยอาจถูกสหรัฐฯใช้มาตรการเอดีกับสินค้ายางรถยนต์ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งประเทศได้ เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามตรวจสอบราคาของเขาอย่างใกล้ชิดด้วย"

แบรนด์ไทยขยายโกอินเตอร์

นายสุวิชา วงศาริยวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริษัท สวิชช์-วัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์แบรนด์ "ดีสโตน-ธันเดอเรอร์" ซึ่งเป็นแบรนด์ของคนไทย เปิดเผยว่าภาพรวมตลาดยางรถยนต์ในประเทศไทยปีที่ผ่านมาทรงตัว ทั้งตลาดโออีเอ็มและตลาดอาร์อีเอ็ม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดรถยนต์ อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกยังดีอยู่ ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังมีช่องทางในการขยายตลาด

สำหรับแบรนด์ดีสโตนมีกำลังการผลิตยางรถยนต์นั่ง 6.5 ล้านเส้นต่อปี และมีโรงงานแห่งใหม่ที่มีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 3.5 ล้านเส้น รวมแล้วกว่า 10 ล้านเส้น นอกจากนั้นแล้วบริษัทฯยังมีโรงงานที่ผลิตยางรถบรรทุกอีก 1 แห่งสามารถรองรับการผลิตได้ 1 ล้านเส้นต่อปี ขณะที่สัดส่วนการทำตลาดของบริษัทฯจะเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศ 60% และ ในประเทศ 40 %

"เรามียอดส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีตลาดหลักคืออเมริกา รองลงมาคือตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งปีนี้จะเน้นไปที่ยุโรปมากขึ้น เพราะเรามีการพัฒนาตัวสินค้าที่รองรับมาตรฐานยุโรป ถือเป็นการยกระดับตัวสินค้าให้เทียบเท่ากับอินเตอร์แบรนด์ โดยเราจะเปิดตัวสินค้ารุ่นดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ขณะที่ความต้องการยางรถยนต์ทั้งตลาดในและต่างประเทศคาดว่าจะมีเพิ่มสูงขึ้น บริษัทฯจึงได้เตรียมแผนลงทุนเพิ่มในปี 2560 โดยอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด"

จับตาจีนแห่ลงทุน

ด้านนายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่าจากการพูดคุยร่วมกับบีโอไอและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายพบว่ามีผู้ประกอบการจากประเทศจีนให้ความสนใจเข้ามาตั้งโรงงานยางรถยนต์ในไทย เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนให้ออกมาลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีปริมาณยางที่มากพอ และแรงงานมีทักษะฝีมือที่ดี ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนสนใจเข้ามาขอรับการสนับสนุนจากบีโอไอเพิ่มขึ้น

 ดีเดย์26ก.พ.ถกลดส่งออก

นายหลักชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ จะมีผู้แทนจากรัฐบาล 3 ชาติประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมถึงผู้แทนจากสมาคมที่เกี่ยวกับยางพาราของทั้ง 3 ประเทศรวมถึงเวียดนามจะหารือกันยที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อจัดทำในรายละเอียดของการลดการส่งออกยางพารา 6.15 แสนตันตามสัดส่วนการส่งออกของแต่ละประเทศ เพื่อดันราคายางให้ขยับขึ้น ขณะที่ในการเตรียมการของไทยเวลานี้ผู้ส่งออกรอรัฐเรียกประชุมว่าใครจะต้องลดการส่งออกเท่าไหร ซึ่งทุกรายพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เชื่อว่าการลดการส่งออกของ 4 ประเทศ(รวมเวียดนาม) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่สัดส่วนรวมกันถึง 80% ของกำลังผลิตโลกจะช่วยดันราคาให้ขยับขึ้นได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559