เกษตรกรมหาสารคามหันปลูกอ้อยอินทรีย์รายได้งาม

04 ก.ย. 2561 | 03:33 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เกษตรกรมหาสารคาม หันปลูกอ้อยอินทรีย์ ช่วยต้นทุนลด บำรุงดิน รายได้งาม ตลาดต้องการต่อเนื่อง

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์ปลูกอ้อยอินทรีย์ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีตลาดรองรับแน่นอน และสร้างรายได้ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์ส่วนใหญ่ ปลูกมากที่อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอบรบือ อำเภอเมืองมหาสารคาม  อำเภอแกดำ อำเภอกุดรัง อำเภอนาเชือก และอำเภอวาปีปทุม

จากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) พบว่า โครงการผลิตอ้อยอินทรีย์ของจังหวัดมหาสารคาม มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 283 ราย พื้นที่ประมาณ 4,554 ไร่ ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐาน Organic Thailand จำนวน 90 ราย  รวมพื้นที่ 1,502 ไร่  ได้ผลผลิตอ้อยอินทรีย์ 15,086 ตัน ส่งให้กับโรงงานน้ำตาลวังขนาย จังหวัดมหาสารคาม โดยทางโรงงานได้แปรรูปเป็นน้ำตาลออร์แกนิค จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยจำหน่ายในต่างประเทศประเทศ ประมาณ 70% ในประเทศแถบเอเชียและยุโรป ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี โอเซียเนีย และนิวซีแลนด์ และอีก 30% จำหน่ายภายในประเทศ และโรงงานยังมีแผนเพิ่มความต้องการอ้อยอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิค  ส่งจำหน่ายให้พอกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านนายฉัตรชัย  เต้าทอง ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จ นายฉัตรมงคล  กล้วยภักดี เกษตรกรในโครงการอ้อยอินทรีย์ ตำบลแก้งแก อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้บอกเล่าประสบการณ์ตนเองว่า มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ ใช้ปลูกอ้อยและทำนาข้าวเพื่อการบริโภค ต่อมาปี 2557 ได้เข้าร่วมโครงการอ้อยอินทรีย์ เพราะเห็นว่าการปลูกอ้อยแบบใช้สารเคมีทั่วไป ดินเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จึงหันมาทำอ้อยอินทรีย์ โดยเริ่มจากแปลงแรกจำนวน 5.86 ไร่ ปัจจุบันปีการผลิต 2560/61 มีพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์จำนวน 20 ไร่ สามารถส่งอ้อยเข้าหีบได้ 300 ตัน หรือเฉลี่ย 15 ตัน/ไร่  ได้ค่าความหวานเฉลี่ย 12.88 CCS และต่อมาได้ทยอยขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์เพิ่มขึ้น ซึ่งยังอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน และยังเผยถึงเทคนิคการปลูกอ้อยอินทรีย์ ซึ่งได้ขุดบ่อกักเก็บน้ำแบบสายน้ำหยดในช่วงปลูกใหม่และช่วงอ้อยตอ (แบบสปริงเกอร์) การให้ปุ๋ยคอกจากมูลสุกรขุนที่เลี้ยงเองแบบธรรมชาติ การป้องกันโรค - แมลง โดยการฉีดพ่นสารสกัดชีวภาพสูตรสมุนไพรไล่แมลงร่วมด้วย รวมทั้งการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อช่วยทุ่นแรงในการเข้ากำจัดวัชพืช ร่วมกับการสางใบเพื่อใช้ทำปุ๋ย เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน

นอกจากนี้ เพื่อการลดต้นทุนค่าพันธุ์ นายฉัตรมงคล ยังได้จัดทำแปลงแม่พันธุ์ (อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3) แยกไว้ใช้เองอีก 3 ไร่ เพื่อนำไปเป็นท่อนพันธุ์สำหรับเพาะปลูกลงแปลง  ส่งผลให้ต้นทุนผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3,000 – 4,000 บาท/ไร่ ซึ่งเปรียบเทียบกับอ้อยเคมีทั่วไปเฉลี่ยที่ 5,000 บาท/ไร่ โดยยังมีเทคนิคเฉพาะ ต่างๆ อีก เช่น  การปลูกอ้อย 1 ครั้ง จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีแรก และอ้อยตอจะใช้แค่ตอที่ 1 เท่านั้น เพราะมีเครื่องจักรกลการเกษตรทุ่นแรง ทำให้สามารถเตรียมดินสำหรับการปลูกใหม่ได้บ่อยครั้งซึ่งให้ผลดีกว่า และมีแผนจะปรับเปลี่ยนนาข้าวอีกบางส่วนเพื่อมาปลูกอ้อยอินทรีย์เช่นกัน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว