เซ็นทรัลขับเคลื่อน4โปรเจ็กต์ รับเทรนด์รีเทลยุคใหม่ รุกออฟไลน์สู่ออนไลน์

30 ส.ค. 2561 | 14:12 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เปิดยุทธศาสตร์ “ซีโอแอล” ปรับทัพมุ่งสู่ O2O รับเทรนด์รีเทลยุคใหม่ เสริมแกร่งออฟฟิศเมทจ่อแตกไลน์ 4 โปรเจ็กต์ทั้ง เพิ่มไลน์สินค้า, แฟรนไชส์, มาร์เก็ตเพลส และโลจิสติกส์ เจาะบีทูบี คาด 3-5 ปี พร้อมขับเคลื่อนซีโอแอลยุค Big Data รับเทรนด์การตลาดแบบ Omni Channel

ภายหลังเซ็นทรัลกรุ๊ปประกาศยุทธศาสตร์ใหม่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมากับการก้าวสู่การเป็น “นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโนมี” (NEW CENTRAL, NEW E-CONOMY) ทั้งในด้านเทคโนโลยี และผู้นำดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม (Market Leader in Digi-Lifestyle Platform) อย่างเต็มรูปแบบ แห่งแรกของประเทศไทย ตลอดจนร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำของโลกในการเสริมแกร่งธุรกิจ โดยหัวใจหลักในการขับเคลื่อนคือยุทธศาสตร์ “ออนไลน์” ที่จะเข้ามาเสริมทัพในการรักษาฐานลูกค้าเดิมพร้อมกับขยายฐานลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ปเปิดเผยกับ    “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เพื่อเป็นการรองรับกระแสออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทกับการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในธุรกิจรีเทลยุคใหม่ที่จะต้องมีการนำกลยุทธ์ทางการตลาดแบบออนไลน์เข้ามาผสมผสานกับออฟไลน์ในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ขณะที่ช่องทางหน้าร้านคือส่วนสำคัญ ดังนั้นกลยุทธ์ทางการตลาดแบบ O2O (Offline to Online) คือส่วนสำคัญในการขายและการทำกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวในยุคที่ออนไลน์เข้ามามีบทบาทกับรีเทลมากขึ้น โดยภาพรวมของบริษัทนับจากนี้จะมีการนำระบบ O2O เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจในเครือมากขึ้น จนนำไปสู่รูปแบบการทำตลาดแบบ Omni Channel ต่อไป

logo2

“Omni Chanel มีการพูดถึงเป็นอย่างมากในหลายธุรกิจ แต่ความจริงแล้วยังสามารถทำได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็น Multi channel อยู่ ซึ่งยังไม่มีการซิงค์ข้อมูลระหว่างกันจนไร้รอยต่อ (seamless) ทั้งนี้การซิงค์ของซีโอแอลเพื่อไปสู่ยุคของ Omni Chanel ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านซึ่งสามารถทำได้ราว 50-60% แล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน 3-5 ปี ซึ่งหากไม่มีการปรับตัวนับจากนี้แน่นอนว่าจะโดนชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างแน่นอน”

mp36-3396-1 ทั้งนี้การที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของ Omni Channel อย่างเต็มรูปแบบของซีโอแอลนั้น Big Data คือองค์ประกอบสำคัญที่จะถูกนำมาขับเคลื่อนเป็นหัวใจหลัก ซึ่งปัจจุบันซีโอแอลยังไม่ถือว่าเป็นการนำ Big Data มาใช้ในการตลาด เนื่องจาก Big Data ถือว่าเป็นฐานข้อมูลที่ต้องมีจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันซีโอแอลเป็นเพียงการใช้ Data เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมเก็บ Big Data โดยในอนาคตหลังจากออฟฟิศเมทฟอร์มธุรกิจใหม่เรียบร้อยจึงจะมีการตั้งทีม Big Data และดึงทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (Data Scientist ) เข้ามาตั้งทีมขึ้นมา เพื่อเสริมแกร่งทีมออนไลน์ในอนาคต
ปรับทัพออฟฟิศเมทเจาะบีทูบี

นายวรวุฒิ กล่าวว่า โดยในส่วนของออฟฟิศเมทเองได้เตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจสู่ความเป็น “VENDER OF EVERYTHING FOR B2B” หรือกลุ่มบริษัทที่เน้นพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อรุกธุรกิจลูกค้าองค์กร (B2B) แบบเต็มตัว อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านของการเก็บ Big Data ที่จะนำมาเป็นฐานข้อมูลสำคัญให้แก่ธุรกิจในเครือต่อไป โดยในปีนี้การทำงานของออฟฟิศเมทประกอบด้วย 4 โปรเจ็กต์ใหญ่ได้แก่ 1.การเพิ่มแคติกอรีของสินค้ามากขึ้น ทั้งในกลุ่มโฮเรกา โรงงาน และเฮลธ์แอนด์เมดิคัล ซึ่งจะเป็นการเปิดธุรกิจใหม่และขยายฐานลูกค้าให้ใหญ่ขึ้นผ่านแพลตฟอร์มเดิมที่มีอยู่ ควบคู่กับมีการสร้างแค็ตตาล็อกสำหรับแต่ละกลุ่มสินค้าเพื่อสื่อสารแบรนด์ ทั้งกลุ่มสินค้าโรงงาน ร้านอาหาร โรงแรม คลินิก สถาบันความงาม จากเดิมที่มีแค่ออฟฟิศเมท (กลุ่มอุปกรณ์เครื่องเขียน)

“ถ้าธุรกิจใหม่ของเรามีการเติบโตที่ดี ก็จะพัฒนาต่อไปเรื่อยโดยมุ่งเน้นการเป็น Supplier of everything ที่เป็น B2B โดยมีแผนในการเปิดตัวสินค้าใหม่ราว 2-3 แคติกอรีต่อปี ซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับหน่วยธุรกิจอื่นในเครือเซ็นทรัลแน่นอน เนื่องจากภาพลักษณ์ใหม่ของออฟฟิศเมทคือการเน้นเจาะลูกค้าภาคองค์กร 100%”

MG_6764

2.การพัฒนาโมเดลแฟรนไชส์แบบ Omni Channel Franchise ในชื่อ “Office Mate Plus” ที่เน้นเจาะเข้าองค์กรเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยต่อยอดสินค้าของบริษัทได้ โดยมีจุดเด่นคือผู้ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์สามารถขายได้ทุกอย่างที่มีอยู่ในคลัง ทั้งช่องทางหน้าร้านและออนไลน์ แม้จะไม่มีสินค้าหน้าร้านแต่สามารถขายผ่านออนไลน์ได้โดยการเลือกจากแค็ตตาล็อกของบริษัทที่มีอยู่ในแต่ละกลุ่มสินค้า โดยราคาเริ่มต้นของแฟรนไชส์อยู่ที่ราว 2-5 ล้านบาท ประกอบไปด้วยโมเดลขนาดเล็กพื้นที่ราว 50 ตร.ม. เงินลงทุนจะอยู่ที่กว่า 2 ล้านบาท,โมเดลขนาดใหญ่ราว 100 ตร.ม. ใช้เงินลงทุนกว่า 4 ล้านบาท และรูปแบบสแตนด์อะโลน มากกว่า 100 ตร.ม. ใช้เงินลงทุนกว่า 5 ล้านบาท และจะมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ให้ ซึ่งจะเน้นโลเกชันในต่างจังหวัดเป็นหลัก โดยจะสามารถเปิดตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ เบื้องต้นขณะนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจเข้าซื้อแฟรนไชส์ราว 150 รายจากทั่วประเทศ โดยวางเป้าหมาย แฟรนไชส์ 1,000 แห่งทั่วประเทศในอนาคต โดยในปี 2562 จะมี 15- 20 แห่ง ซึ่งจะใช้เวลาคืนทุน 2-3 ปี

“ถ้าถามว่าโมเดลใหม่ของเราทับซ้อนกับร้านค้าดั้งเดิมในต่างจังหวัดหรือไม่ คงต้องตอบว่าใช่ ซึ่งรูปแบบร้านของเราก็เหมือนร้านสะดวกซื้อภาคองค์กร เพียงแต่ว่าการที่มาเป็นแฟรนไชส์เราไม่ได้ไปตั้งเองแล้วเราชนะ เขาแพ้ แต่แฟรนไชส์ของเราก็คือการร่วมก่อตั้งแล้วก็ชนะไปด้วยกัน ซึ่งวิธีคิดในการทำงานของเราพยายามไม่ทำให้เป็นเหมือนโมเดิร์นเทรดในอดีตว่าพอเราโตแล้วกินคนอื่นเรียบ แต่ร้านดั้งเดิมสามารถแปลงสภาพมาเป็นแฟรนไชส์ได้และสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น”

090861-1927-9-335x503-3

 

3. B2B Market Place ที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 นี้ โดยการปรับออฟฟิศเมทให้เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ภาค B2B ที่เน้นเจาะลูกค้าองค์กรเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตคนที่เข้ามาซื้อสินค้าในออฟฟิศเมท จะเจอสินค้าที่หลากหลายจากร้านค้าต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงของบริษัท แต่จะมีการเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการอื่นๆ ที่สนใจวางจำหน่ายสินค้า โดยบริษัทมีจุดแข็งคือมีฐานลูกค้าภาคองค์กรอยู่ 3-4 แสนรายที่สามารถเข้าถึงได้ เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ทำคอนเทนต์ และทีมงาน

4.การเปิดตัวกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ที่จะเข้ามาซัพพอร์ตช่องทาง B2B Market Place ในปีหน้า เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการเซตอัพแวร์เฮาส์ ที่หนองจอก และสุวินทวงศ์ โดยหนองจอกจะใช้ซัพพอร์ตผู้ประกอบการอื่นที่เข้ามาใช้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ของบริษัท ซึ่งคลังสินค้าสามารถรองรับได้อีก 5 ปี พร้อมกับเสริมแกร่งผ่านการร่วมมือกับ Kerry Express ในการรับส่งสินค้า

“ความท้าทายในการทำธุรกิจที่เน้นเจาะ B2B คือการที่จะทำอย่างไรให้ลูกค้ากล้าที่จะซื้ออุปกรณ์มากกว่าเครื่องเขียน สำนักงานที่มีอยู่ ซึ่งกลุ่มโรงงานเราวางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 300 ล้านบาทในปีแรก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี”

ทั้งนี้การเพิ่มไลน์ธุรกิจดังกล่าวของออฟฟิศเมทนอกจากจะเป็นการปรับโครงสร้างเพื่อการเติบโตแล้วยังเป็นการต่อยอดจุดแข็งของบริษัทที่มีความถนัดด้านการขยายตลาดภาคลูกค้าภาคองค์กรที่มีอยู่ 3-4 แสนราย ทั้งกลุ่มบริษัท โรงงาน หน่วยงานต่างๆ จึงมองเห็นโอกาสในการสร้างการเติบโตสำหรับกลุ่มสินค้าที่เน้นเจาะลูกค้า B2B มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มจำนวนการสั่งซื้อของลูกค้า โดยวางเป้าหมายในช่วง 5 ปีนับจากนี้ออฟฟิศเมทจะมียอดขายโต 1 เท่าตัว หรือเฉลี่ยปีละ 15% หรือมียอดขายกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับ การขยายสินค้าไปยังแคติกอรีอื่นๆแบบไม่มีจำกัดตามความต้องการของลูกค้า

หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ปีที่ 38 ฉบับ 3,396 | วันที่ 30 ส.ค.61-1 ก.ย. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว