สกต. เช่าโกดัง "จำนำยุ้งฉาง" เปิดช่องทุจริต!!

22 ส.ค. 2561 | 10:12 น.
220861-1658

ธ.ก.ส. เล่นกลใช้ สกต. ทั่วประเทศ เช่าคลังโรงสีเก็บข้าวจำนำยุ้งฉาง วงการผวาปลุกผีจำนำข้าวรอบ 2 ชี้ช่องโหว่ทุจริตอื้อ หวั่นซ้ำรอย

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2561/2562 รวม 3 มาตรการ ซึ่งโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) เป็น 1 ในมาตรการที่ปีนี้มีความคึกคักตั้งแต่โครงการยังไม่เริ่ม (โครงการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 โดยทำสัญญากู้เงินถึง ก.พ. 2562 และชำระคืนไม่เกิน 5 เดือน) ล่าสุด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้จัดประชุมใหญ่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) 76 ทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพฯ) เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ สกต. เข้าร่วมโครงการ โดยจูงใจให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินแห่งละ 300 ล้านบาท ราคารับจำนำยุ้งฉาง ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,800 บาท, ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,200 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,500 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 8,900 บาท


62107

แหล่งข่าว ธ.ก.ส. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปกติจำนำยุ้งฉางจะให้เกษตรกร/สหกรณ์/สถาบันเกษตรกร ที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องมียุ้งฉางเป็นของตัวเอง โดยจะได้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท แต่ปีนี้นโยบายของผู้บริหาร ธ.ก.ส. มีแนวคิดใหม่ที่จะให้ สกต. ทั่วประเทศ เช่าโกดัง/คลังของโรงสี ฝากข้าวเปลือกเก็บไว้รอขายได้ กระบวนการ คือ ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน ส่งข้าวสดให้ สกต. หรือ ส่งตรงให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการ โดยโรงสีจะได้ค่าจ้างอบลดความชื้น 200 บาทต่อตัน ขณะที่ โรงสีจะต้องจ่ายค่ารวบรวมข้าวให้ สกต. 200 บาทต่อตัน

หลังจากนั้น เมื่อนำข้าวเข้าโครงการให้นำเงินชดเชยจากรัฐ (ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก 1,500 บาท) ในจำนวนนี้ สกต. รับไป 1,000 บาท และจ่ายให้เกษตรกร 500 บาทต่อตัน ขณะที่ สกต. จะต้องจ่ายค่าเช่าโกดัง 6 เดือน (200 บาท/ตัน) เพื่อฝากเก็บรอขาย ซึ่งเงื่อนไขการฝากเก็บ คือ 1.โรงสีรับรองจะซื้อข้าวคืนเมื่อ สกต. ต้องการขาย โดยราคาขั้นต้น เมื่อราคาตลาดสูงกว่าราคาตามโครงการ ให้รับซื้อราคาตลาดบวกต้นทุน 3% แต่ถ้าราคาตลาดต่ำกว่าราคาตามโครงการ ให้รับซื้อในราคาต้นทุนบวก 3% โดย สกต. จะให้เครดิตการชำระเงินแก่โรงสี 45 วัน จากนั้นให้นำกำไรจากการขายข้าวเปลือกมาปันส่วนเฉลี่ยคืนให้กับ สกต. (อัตราการปันส่วน 50:45:5) ส่วนของโรงสีจ่ายเพิ่มแก่เกษตรกร 200 บาทต่อตัน โดยจ่ายทันทีในราคาตลาด หลังส่งมอบข้าวเปลือก

 

[caption id="attachment_308194" align="aligncenter" width="503"] สุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย[/caption]

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ในปีแรกของการจำนำยุ้งฉาง (ปี 2560/2561) เคยคิดที่จะนำข้าวไปฝากเก็บไว้กับโรงสี แต่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่เห็นด้วย  เนื่อกงจากยังเข็ดขยาดกับการทุจริตของโรงสีในโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลชุดก่อน อาทิ นำข้าวผิดชนิดและข้าวไม่ได้คุณภาพไปใส่ไว้ในโกดัง เป็นต้น ซึ่งเห็นว่าการดำเนินการในลักษณะข้างต้นจะทำให้กลไกตลาดผิดเพี้ยน จากปกติข้าวที่เข้าร่วมจำนำยุ้งฉางจะมีประมาณ 1.2-1.4 ล้านตัน ถามว่า ใครได้เปรียบ หากินบนหลังชาวนาหรือไม่ ขณะที่ โรงสีในภาคกลางจะได้เปรียบ เพราะใกล้ชิด สกต. ที่สามารถไปแย่งซื้อข้าวหอมมะลิในภาคอีสานได้ ส่วนที่ สกต. จะซื้อข้าวแน่ใจได้อย่างไรว่าจะเป็นชาวนาทุกคน เพราะที่ผ่านมา มีการสวมสิทธิ์ ไม่อยากให้เกิดการทุจริตซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว

เช่นเดียวกับ นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่กล่าวว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเหมือนเอาข้าวไปรวบรวมให้กับโรงสีบางแห่ง โดยที่โรงสีไม่ต้องมีค้ำประกันอะไรเลย การตรวจสอบคุณภาพข้าวจะมีหรือไม่ อย่างไร และถ้าเกษตรกรจะมีการไถ่ถอนข้าวจะทำอย่างไร จะนำข้าวที่ไหนมาให้ เมื่อไปรวบรวมไว้กับโรงสีไม่กี่ราย เพราะการจำนำยุ้งฉาง จุดประสงค์ คือ ภายหลังหากราคาข้าวดีขึ้น ชาวนาจะได้ไถ่ถอน แล้วนำมาขายในราคาตลาด ผลประโยชน์จะตกอยู่กับชาวนา แต่ถ้าไปรวบรวมแล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ข้าวเป็นของใคร จะกลายเป็นจำนำข้าวภาค 2 ที่จะมีโอกาสไปสู่วังวนเดิมเรื่องทุจริต แต่ถ้าจะทำก็ทำได้ โดย 1.จะต้องให้โรงสีวางค้ำประกันข้าวเต็มจำนวน หรือไม่น้อยกว่าราคาข้าว 50% , 2.ให้ทำกับโรงสีเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ และที่สำคัญหากข้าวมีปัญหาโรงสีต้องรับผิดชอบ


GP-3394_180822_0001

น.ส.ธันยนันท์ อริยขจรนนท์ นายกสมาคมค้าข้าวไทย (หยง) กล่าวว่า รัฐบาลเคยรับปากว่า ต่อไปนี้จะไม่มีโครงการจำนำข้าวอีก แล้วทำไมฟื้นกลับมาอีก และ 2.ต้องการให้คนทำผิดอีกหรือ คดีเก่ายังสางกันไม่จบ จะมีคดีใหม่เกิดขึ้นอีกแน่นอน

ขณะนายสมพงษ์ จันทร์เพชร ประธานคณะกรรมการ สกต. ธ.ก.ส.ศรีสะเกษ จำกัด กล่าวว่า โมเดลนี้ สกต. ธ.ก.ส.ศรีสะเกษ ทำสำเร็จในปีที่แล้วมาแล้ว โดยไล่ซื้อข้าวจากชาวนาสมาชิก สกต. แล้วนำไปฝากคลังโรงสี (ของตัวเอง) เก็บเพื่อเข้าร่วมโครงการ ปรากฎว่า ได้ผลสำเร็จที่ดี ทำให้สำนักงานใหญ่ของ สกต. จะนำไปเป็นโมเดล สกต.ทั่วประเทศ ปีนี้ทาง สกต.ศรีสะเกษ ตั้งเป้าจะรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ 2 หมื่นตัน จากปีที่แล้วกว่า 1 หมื่นตัน มองเป็นการช่วยชาวนาขายข้าวได้ราคาอีกด้านหนึ่ง และ สกต. จะมีรายได้เพิ่มจากการค้าข้าว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,394 วันที่ 23-25 ส.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"กฤษฏา" ดันสหกรณ์เข้าโครงการจำนำยุ้งฉาง
ดึงสหกรณ์ร่วมโครงการจำนำยุ้งฉาง


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62-7