ทางออกนอกตำรา : รถไฟไฮสปีด พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยจริงหรือ?

11 ส.ค. 2561 | 18:18 น.
5265965 แม้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) จะเร่งดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ล่าสุดได้เปิดประมูลหาผู้ร่วมลงทุน โดยคาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างภายในปลายปีนี้ อีกด้านกระทรวงคมนาคมยังเดินหน้าเร่งดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงสายอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายใต้ ระยะที่ 1 ตอน กรุงเทพฯ – หัวหิน ที่จะเปิดพื้นที่การลงทุนสู่โซนภาคใต้ของไทย หรือรถไฟภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ที่จะเปิดพื้นที่การลงทุนสู่ภาคเหนือ

การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามกรอบแนวทางการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ของรัฐบาล กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางให้มีความสะดวก รวดเร็ว มีความปลอดภัย และมีโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ
hs โดยตามแผนยุทธศาสตร์ระบบรางนั้นได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกการเร่งพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟทางคู่ ที่ได้มีการอนุมัติโครงการไปแล้วในรัฐบาลนี้ถึง 7 โครงการ แบ่งออกเป็น 1) การพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟทางคู่ เฟสแรกจำนวน 6 โครงการ ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างรวมระยะทาง 993 กิโลเมตร จากที่มีอยู่เดิมเพียง 359 กิโลเมตร  และ 2) การพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติอนุมัติการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสาย เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 8.5 หมื่นล้านบาทไปแล้ว
CiHZjUdJ5HPNXJ92GRi8rgH0YATqis2pcg ส่วนที่สอง คือ การเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟความเร็วสูง 4 โครงการ รวมระยะทาง 1,104 กิโลเมตร ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแล้ว 1 เส้นทาง คือเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ตอน กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาทและโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคาในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ในเส้นทางเชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 260 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

ดังนั้นจากการขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางต่างๆจึงมีความชัดเจนอย่างต่อเนื่องซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งรัดนำเสนอขออนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงสายภาคใต้ ระยะที่ 1 ตอน กรุงเทพฯ – หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 7.7 หมื่นล้านบาทโดยเปิดให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หรือร่วมทุนพีพีพี ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการที่มีความคืบหน้าอย่างมาก

เริ่มตั้งแต่กระทรวงคมนาคมได้ส่งรายงานผลการศึกษาการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ประกอบด้วย ผลการศึกษาความเหมาะสม การออกแบบกรอบรายละเอียด ร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณานำเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การปรับปรุงแนวเส้นทางในช่วงที่ผ่านอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มิให้มีผลกระทบต่อปริมาณจราจรของถนนเพชรเกษม โดยในเรื่องดังกล่าวได้มีความตกลงร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เรียบร้อยแล้ว

rea01070661p1

นอกจากนั้นยังได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งจะเป็นการเปิดพื้นที่และพัฒนาเมืองใหม่ตลอดแนวเขตพื้นที่ที่สำคัญตลอดเส้นทาง (2) การปรับปรุงแนวการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระรามที่ 6 ในช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และ (3) การใช้เขตทางรถไฟสายใต้ในส่วนของการเดินรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และรถไฟชานเมือง ให้มีความชัดเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม(คชก.)

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดจัดส่งข้อมูลให้กับสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) และกระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอขออนุมัติโครงการการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือตามกระบวนการร่วมทุนพีพีพีภายในเดือนตุลาคม 2561 พร้อมทั้งได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับไปดำเนินการศึกษา ออกแบบ ระยะที่ 2 ตอน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ – จ.สุราษฎร์ธานี และระยะที่ 3 ตอน จ.สุราษฎร์ธานี – ปาดังเบซาร์ ให้สามารถเชื่อมโยงสู่ภาคใต้อย่างเต็มเส้นทางต่อไป
59659 ความชัดเจนในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันชัดเจนว่า การพัฒนาระบบรางของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลถือว่าเป็นการปฏิรูประบบรางทั้งระบบรางใน กทม. เมืองหลัก รถไฟระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูง

ประการสำคัญเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศครั้งใหญ่ที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล สร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาด สร้างความสะดวกสบายและลดระยะเวลาในการเดินทาง และที่สำคัญคือประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึง

คงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วการขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทางจะมีโอกาสสำเร็จตามแผนและเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน เอกชนรายใดบ้างจะแบ่งเค้กกันตามที่เป็นข่าวตามสื่อได้จริงหรือไม่ทั้งกลุ่มซีพี กลุ่มบีทีเอส กลุ่มปตท. กลุ่มเจ้าสัวเจริญ ใน 1-2 ปีนี้คงมีคำตอบให้เห็นภาพชัดเจนแน่ โดยเฉพาะเดือนตุลาคมหรือปลายปีนี้จะสามารถเปิดประมูลสายใต้ได้หรือไม่???

อย่างไรก็ตามคงไม่มองข้ามเรื่องความเจริญด้านพื้นที่ตามแนวเส้นทางว่าเอกชนรายใดจะได้รับอานิสงส์จากโครงการดังกล่าวทั้งเอกชนจากส่วนกลางและเอกชนในพื้นที่ทั้งบริษัทรับเหมาและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลหวังให้เป็นผู้ขับเคลื่อนแต่ละโครงการร่วมกันไปด้วย ให้โครงการเติบโตอย่างยั่งยืนจริงๆโดยไม่เป็นภาระของรัฐตั้งแต่เริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการอีกต่อไป หากรัฐบาลคสช.สามารถเร่งผลักดันรถไฟความเร็วสูงได้ครบทั้ง 4 เส้นทางก็ถือว่าพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ (แทน)
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3391 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-15 ส.ค.2561