เศรษฐกิจโลกเสี่ยงสูง! 'สหรัฐฯ' ฟัดจีน ธุรกิจต้นทุนพุ่ง

12 ก.ค. 2561 | 05:27 น.
120761-1224

'ทรัมป์' ยัน! หลังเที่ยงคืนสู่เช้าวันศุกร์ที่ 6 ก.ค. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 25% รวมมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งฝ่ายจีนก็เตรียมพร้อมจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าเท่าเทียมกันตามที่ได้เคยประกาศไว้ทันทีที่สหรัฐฯ เริ่มก่อน

นับเป็นการยกระดับสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่ทั้ง 2 ฝ่าย ขู่โต้กันไปมา และหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์ สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติมอีกระลอก มูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์

สินค้าจีนที่อยู่ในกลุ่มจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นรอบแรก 25% ครอบคลุม 818 ประเภทสินค้า มีตั้งแต่อุปกรณ์ไถนา เซมิคอนดักเตอร์ ไปจนถึงชิ้นส่วนอากาศยาน นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีเจาะจงโดยตรงที่สินค้าจีน หลังจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้กล่าวหาจีนมีพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรม ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างหนักถึง 335,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งยังกล่าวหาจีน 'ปล้น' ทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ทางการจีนโต้กลับว่า เตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าไม่น้อยไปกว่ากัน ครอบคลุมสินค้าที่มีความสำคัญต่อกลุ่มฐานเสียงของรัฐบาลสหรัฐฯ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง เนื้อสุกร เนื้อโค เนื้อไก่ ปลา นม รวมทั้งรถยนต์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการยั่วยุให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีนเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน จีนได้หาแหล่งจัดซื้อใหม่เป็นการทดแทน เช่น ถั่วเหลืองจากบราซิล ที่จีนสั่งซื้อถึง 19 ตู้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา


GP-3355_180410_0005-1-01

นักวิเคราะห์ เตือนว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าที่ส่อแววลุกลาม จะมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและอันตรายยิ่งขึ้น ก็เมื่อมาตรการเหล่านี้ส่งผลโดยตรงที่ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนและผู้บริโภคทั่วโลกมีต้นทุนใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น นายโรเบิร์ท ฮอลลีย์แมน อดีตรองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ให้ความเห็นว่า ถ้าหากไม่มองหาทางออกของเรื่องนี้ให้ไว ความขัดแย้งก็จะยิ่งบานปลายและเพิ่มแรงกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง การเปิดศึกการค้าจากกรณีการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม ทำให้ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ อย่าง สหภาพยุโรป (อียู) แคนาดา และเม็กซิโก พากันงัดมาตรการทางภาษีมาตอบโต้สหรัฐฯ และกำลังลุกลามไปสู่การขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ที่จะสร้างผลกระทบเสียหายแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ เอง อย่าง ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์หรู เมื่อถูกอียูเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องโยกย้ายการผลิตออกไปสู่โรงงานที่อยู่นอกสหรัฐฯ มากขึ้น นับเป็นผลลัพท์ที่สวนทางกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ต้องการดึงทุนอเมริกันกลับประเทศ ส่วนบริษัทอเมริกันที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในจีน อย่าง แอปเปิล วอลมาร์ต และเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ต่างก็หวาดหวั่นอาจเจอข้อจำกัดในการขยายธุรกิจในจีน หากความขัดแย้งทวีความรุนแรง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตกอยู่ในทิศทางปรับดิ่งลง เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า และไม่มั่นใจเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลจีนในการแก้ไขปัญหาหนี้ท่วมและการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ ดัชนีหลักทรัพย์ฯ ของสหรัฐฯ ปีนี้ มีการขยายตัวมากกว่า 2% เล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวค่อนข้างแข็งแกร่งชดเชยความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้า แต่ถ้ามองในแง่การเมือง ความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดขึ้น จะมีผลต่อกลุ่มเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงสำคัญในมลรัฐที่เป็นแหล่งผลิต และถ้าหากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถกปกป้องพวกเขาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้า เชื่อว่าที่นั่งของพรรครีพับลิกันในสภาก็คงจะลดลงอย่างแน่นอน หลังการเลือกตั้งกลางเทอมที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้


00-01

การเปิดศึกการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะทำให้การค้าขายระหว่างบริษัทของทั้ง 2 ฝ่าย มีต้นทุนสูงขึ้น เมื่อราคาสูงขึ้น ความต้องการซื้อระหว่างกันก็จะลดน้อยลง ... กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกโรงเตือนว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายหาการเผชิญหน้าที่ยืดเยื้อจะส่งผลเชิงลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ขณะนี้ถือได้ว่ามีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนจะตอบโต้กันไปถึงจุดไหน หากขึ้นภาษีรอบแรกกันไปแล้วทั้ง 2 ฝ่าย ผ่อนคลายท่าทีลง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจก็จะมีเพียงเล็กน้อย แต่ถ้ามีการตอบโต้กันเต็มอัตราศึก โดยขยายไปถึงการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า 10% สินค้าจากทุกประเทศจะมีการขึ้นภาษีตอบกลับจากประเทศคู่ค้าเหล่านั้น ก็จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในอัตรา 0.8% ภายในปี 2563

นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค. ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงมากที่สุดจะมาจากผลกระทบทางอ้อมของการที่ภาคธุรกิจมีความมั่นใจน้อยลง การปล่อยสินเชื่อมีเงื่อนไขข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้มีการลงทุนและการจ้างงานน้อยลง ปัจจัยเหล่านี้มีผลลดทอนความคึกคักในตลาดการเงินด้วย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,381 วันที่ 8-11 ก.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง 4% ตามเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็ง
พลังทัวริสต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก นักท่องเที่ยวจีนบุก!


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว