TMB ปฏิวัติการออมชูดอกเบี้ย 1.7% บัญชีออมทรัพย์ดิจิตอล

16 ก.ค. 2561 | 15:19 น.
6 ปีให้หลังบัญชีออมทรัพย์ “ME By TMB” ยังรักษาแชมป์ธนาคารแห่งแรกและแห่งเดียวที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ในท้องตลาด และติดอันดับการสร้างประสบการณ์ทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่พึ่งสาขาของธนาคาร ขณะที่ปัจจุบันธนาคารทุกแห่งต่างก็โฟกัสไปสู่ธนาคารดิจิตอลเช่นกัน

“เบญจรงค์ สุวรรณคีรี” เจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมตลาดเงินและตลาดทุนปีนี้สะท้อนการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ หลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด)ขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้ตลาดเงินฝากจะกลับมาคึกคักขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ จากความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้นและต่อเนื่อง มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปลายปีนี้และต้นปีหน้า

[caption id="attachment_297030" align="aligncenter" width="334"] NAMO2 เบญจรงค์ สุวรรณคีรี[/caption]

ขณะที่การแข่งขันระดมเงินฝากทุกธนาคารต่างก็ทำตลาดโมบายแบงกิ้ง ซึ่งเป็นบริการเหมือนและคล้ายกันบวกกับผู้เล่นทั้งที่เป็นฟินเทคและอี-วอลเล็ตที่เข้ามา ทำให้อุตสาหกรรมธนาคารคึกคัก นอกจากต้องแข่งขันรักษาฐานลูกค้ากับธนาคารด้วยกันแล้วยังต้องเจอคู่แข่งเพิ่ม
ด้วย จึงเป็นที่มาของ ME MOVE ซึ่งเป็นบัญชีเงินเพื่อการใช้จ่ายเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าที่อื่น

โดยบัญชี ME MOVE จะใช้คู่กับบัญชี ME SAVE ซึ่งเดิมคือ บัญชี ME by TMB คือเป็นการดึงเงินจากบัญชี ME SAVE ออกมาเพื่อใช้จ่ายในบัญชี ME MOVE ซึ่งจะใช้เทคโนโลยี Balance Sweep ตัดเงินคงเหลือช่วงสิ้นวันกลับไปเก็บไว้ในบัญชี ME SAVE ถ้าเดือนนี้มีเงินฝากคงเหลือในบัญชีนี้มากกว่าเดือนที่แล้วลูกค้าเจ้าของบัญชีจะได้รับดอกเบี้ยในอัตรา 1.7% ต่อปี จูงใจลูกค้าให้ฝากเงินสมํ่าเสมอ โดยการแยกบัญชีเพื่อใช้จ่ายกับบัญชีเพื่อเก็บออมแต่เป็นการใช้คู่กันในหลักการจะช่วยลูกค้ามีเงินออมและได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล ทั้งปีนี้คาดหวังจะเพิ่มฐานลูกค้ามาใช้บัญชี ME MOVE ประมาณ 10% ของฐานลูกค้าที่มีอยู่ราว 3.3 แสนราย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

“ME MOVE เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การออมในหลายรูปแบบทั้งประกัน การลงทุน ซึ่งกำลังศึกษาและพัฒนาต่อไป เพื่อขยายไปยังการใช้จ่าย ชำระบิล ที่สำคัญหัวใจหลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์คือทำให้คนไทยออมเงินได้ง่ายขึ้นและสร้างระบบเงินออมที่มีประสิทธิภาพเพราะผลศึกษาที่ผ่านมาพบว่า 80%ของคนไทยยังออมเงินในบัญชีเพื่อใช้”

สำหรับ 6 ปีที่ผ่านมาผลตอบรับจากการทดสอบตลาดเงินฝากออนไลน์มีฐานลูกค้า 3.3 แสนรายมียอดเงินฝากราว 4.7 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยเงินฝากต่อบัญชี 1.4 แสนบาท ซึ่งสูงกว่าเงินฝากเฉลี่ยคนไทย โดยปีนี้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเป็น 3.6 แสนราย คิดเป็นอัตราเติบโตที่ 20%
ต่อปี

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายปัจจุบันอยู่ในช่วงอายุตํ่ากว่า 35 ปีประมาณ 55% อายุมากกว่า 35 ปีเกือบ 40% ทั้งนี้ Big Data เป็นโจทย์สำคัญของธนาคารดิจิตอลที่มุ่งหวังยกระดับตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์ตามแนวโน้มการยอมรับธนาคารอิเล็กทรอนิกส์และทิศทางสู่ความพร้อมทั้งนโยบายรัฐและผู้บริโภค

ด้านความท้าทายนั้น “เบญจรงค์” ระบุว่า ส่วนตัวมองความเสี่ยงดิจิตอลแบงกิ้งยังเป็นเรื่องใหม่และไปไว เห็นจากวิวัฒนาการในต่างประเทศ ซึ่งคนไทยต้องเรียนรู้ตามโลกให้ทันและเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการ และภาครัฐพยายามออกกฎระเบียบเข้ามาดูแลด้วย

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,382 วันที่ 12 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561