ดึงอากาศยาน1.8แสนล.เตรียม3พันไร่รองรับเล็ง40ซัพพลายเออร์แอร์บัสลงทุน

03 ก.ค. 2561 | 04:38 น.
เอกชนเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3 พันไร่ ใน 13 พื้นที่ รองรับอุตสาหกรรมอากาศยาน ดึงลงทุน 1.8 แสนล้านบาท คาด 40 บริษัท ซัพพลายเออร์แอร์บัสจ่อลงทุน หลังทีจีลงนามร่วมทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา 25 มิ.ย.นี้

การเดินทางเยือนเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุนระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)หรือทีจี และบริษัทแอร์บัสฯ เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 พร้อมทั้งเยี่ยมชมบริษัท แอร์บัสฯ ประกอบกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ได้จัดเวทีชี้แจงเชิญชวนนักลงทุน(โรดโชว์) ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่ทางฝรั่งเศสหรือกลุ่มสหภาพยุโรป มีเทคโนโลยีและมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ น่าจะสร้างการตื่นตัวหรือแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีได้มากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มขึ้นของการเดินทางและขนส่งทางอากาศ ที่ภายใน 20 ปีข้างหน้า การเดินทางทางอากาศจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจสายการบินและจำนวนเครื่องบินมีการขยายตัว รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน และผลิตชิ้นส่วน ที่จะมีการขยายตัวตามด้วย

ดังนั้น การไปโรดโชว์ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จะเป็นการตอกยํ้าและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน ว่าอีอีซีมีความพร้อม ซึ่งนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ยํ้าให้เห็นว่า หลังจากที่ทีจีและแอร์บัส ลงนามครั้งนี้แล้ว จะมีซัพพลายเออร์ของแอร์บัส กว่า 40 บริษัท เดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซี ซึ่งได้มีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการลงทุนไว้ให้แล้ว TP11-3377-A

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน พบว่าไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน โดยมีพื้นที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน จะอยู่บริเวณบนพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือในอีอีซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินอู่ตะเภา

อีกทั้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนให้สนามบินอู่ตะเภา เป็นเมืองการบินภาคตะวันออกอย่างเต็มรูปแบบ ทางรัฐบาลเห็นว่า จำเป็นต้องเร่งจัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอากาศยาน ของนักลงทุนที่จะเกิดขึ้น โดยขณะนี้มีเอกชนได้เสนอและได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมไว้แล้วจำนวน 13 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 3 พันไร่ คาดว่าจะรองรับการลงทุนคิดเป็นมูลค่าราว 1.8 แสนล้านบาท  นอกเหนือจากพื้นที่ 6,500 ไร่ ของกองทัพเรือ ที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ในการดำเนินกิจกรรมหลัก 6 กลุ่ม ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า กลุ่มอาคารคลังสินค้า ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน ซึ่งจะเปิดทีโออาร์ให้ผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐได้ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 นี้ คิดเป็นเงินลงทุนรวมราว 2 แสนล้านบาท

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ดังนั้น จากการออกไปโรดโชว์  และการลงนามระหว่างทีจีและแอร์บัสครั้งนี้ จะทำให้นักลงทุนในสหภาพยุโรปตื่นตัวที่จะมาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น โดยเฉพาะซัพพลายเออร์ ของแอร์บัส ที่มีมากกว่า 40 ราย หลังจากวันที่ 25 มิถุนายนนี้ไปแล้ว จะมีการหารือกับทางแอร์บัส เพื่อจะเดินทางมาศึกษาลู่ทางการลงทุน ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับทางทีจีและแอร์บัสด้วย

โดยปัจจุบันมีนักลงทุนที่เสนอขอรับการพิจารณาแล้ว 3 ราย ได้แก่ Senior Aerospace ผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน เงินลงทุน 600 ล้านบาท ที่นิคมฯปิ่นทอง 1 บริษัท  PACMET ผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานเงินลงทุน 80 ล้านบาท ที่นิคมฯปิ่นทอง 1  และ BOSA-Thayaan หน่วยซ่อมบำรุงอากาศยาน เงินลงทุนมากกว่า 370 ล้านบาท เป็นต้น และมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น บริษัท โบอิ้ง แอร์เอเชีย  Airbus, Boeing, ST Aerospace, AirAsia, Senior Aerospace, ลุฟท์ฮันซ่า, Sumitomo Precision Products, บริษัท Thai Aviation Services(TAS) และ Thai Aviation Industries (TAI) เป็นต้น

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,377 วันที่ 24-27 มิ.ย. 2561

e-book-1-503x62-7