คลอด TOR ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา! สร้างมั่นใจ 'แอร์บัส' หนุนเมืองการบินตะวันออก 2 แสนล้าน

24 มิ.ย. 2561 | 04:16 น.
230661-1108

ศูนย์ซ่อมอากาศยานฯ เดินหน้า คลอดทีโออาร์ร่วมทุน 'ทีจี-แอร์บัส' ในสัปดาห์นี้ นำร่องการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ชี้! หากก่อสร้างล่าช้ากระทบแผนขับเคลื่อนเมืองการบินภาคตะวันออก 2 แสนล้านบาท รองรับการซ่อมฝูงบินทีจีไม่ทัน

โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือ เอ็มอาร์โอ เป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่คาดว่าจะมีการออกทีโออาร์ได้ภายในสัปดาห์นี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนโครงการที่ 2 จากก่อนหน้านี้ได้มีการออกทีโออาร์โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไปแล้ว


TP11-3280-AB

ข้อสังเกตหนึ่งที่คลอดทีโออาร์ออกมาในสัปดาห์นี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและให้ทันการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมทุนระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีจี กับแอร์บัส ซึ่งจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน ที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 25 มิ.ย. นี้

โดยกระบวนการคัดเลือกเอกชนตาม PPP EEC Track จะใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยการไม่ประมูล แต่ในทีโออาร์จะกำหนดรูปแบบการลงทุน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็ว ซึ่งทีจีและแอร์บัสจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,977 ล้านบาท เพื่อจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ ขณะที่ ภาครัฐจะเป็นผู้ก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมและอาคารประกอบทั้งหมด เงินลงทุนประมาณ 6,332 ล้านบาท คาดเปิดให้บริการภายในปี 2564


tp12-3376-b


แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าทีโออาร์ของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างทีจีและแอร์บัสจะประกาศออกมาได้ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในระยะแรก จากกิจกรรมที่จะมีการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน 6 กลุ่มกิจกรรม ประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 , ศูนย์พัฒนาธุรกิจการค้า , กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน ประกอบด้วย เขตการค้าเสรี , ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ , กลุ่มธุรกิจซ่อมอากาศยาน และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ที่จะมีการประกาศทีโออาร์ได้ในช่วงเดือน ต.ค. 2561 นี้ ด้วยงบลงทุนราว 2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะ MRO ได้มีผู้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนหลายราย ไม่ว่าจะเป็น แอร์เอเชีย ST Aerospace , จีอี ลุฟฮันซ่า , Sumitomo Precisiun Products เป็นต้น

สำหรับการเร่งก่อสร้าง MRO ดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบัน บริษัท การบินไทยฯ มีศูนย์ซ่อมอากาศยานตั้งอยู่ในบริเวณสนามบินอู่ตะเภาอยู่แล้ว แต่เมื่อมีแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จำเป็นต้องรื้อพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงดังกล่าว เพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 แทน ให้แล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2564 ควบคู่กับการก่อสร้าง MRO แห่งใหม่ บนเนื้อที่ราว 210 ไร่


app-THAILAND_AIRPORT_BK102

ทั้งนี้ การก่อสร้าง MRO แห่งใหม่ และการรื้อถอนศูนย์ซ่อมเดิม หากล่าช้าจะกระทบการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 และหากรื้อถอนศูนย์ซ่อมเดิมออกก่อนที่การก่อสร้างศูนย์ซ่อมแห่งใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ บริษัท การบินไทยฯ จะได้รับผลกระทบ ต้องส่งเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ กระทบต่อแผนการบิน รวมทั้งพนักงานประมาณ 300-400 คน จะต้องโอนย้ายไปประจำที่อื่นชั่วคราว ทำให้การบินไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายที่ บริษัท การบินไทยฯ ต้องจ่ายให้ศูนย์ซ่อมที่ต่างประเทศด้วย

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีสถานที่ให้บริการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อใช้ทดแทนปฏิบัติการของศูนย์ซ่อมอากาศยาน ทำให้ บริษัท การบินไทยฯ สามารถย้ายกิจกรรมการซ่อมบำรุงไปยังศูนย์ซ่อมแห่งใหม่ และสามารถรื้อถอนศูนย์ซ่อมเดิมได้ โดยไม่กีดขวางแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 และเพื่อป้องกันผลกระทบในเรื่องการสูญเสียรายได้ หรือ มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และเพื่อให้สามารถรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินยุคใหม่ ประมาณ 20 ลำ ที่จะครบวงรอบซ่อมบำรุงครั้งแรกในอีกประมาณ 4-5 ปี ตรงกับกำหนดการเปิดดำเนินงานศูนย์ซ่อมแห่งใหม่พอดี


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,376 วันที่ 21-23 มิ.ย. 2561 หน้า 12

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อีอีซีรุกคืบ! เปิด TOR รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
3ส.ผู้ค้ายื่น6แนวทางเปิดสัมปทานดิวตี้ฟรีรอบใหม่จี้ทอท.เปิดTOR


e-book-1-503x62-7