NPL ไหลกลับ 7 แสนล้าน! ช็อกอายุ 37 ปี พอกหนี้เสีย 5 หมื่นล้านบาท

23 พ.ค. 2561 | 03:56 น.
250561-1246 apptp14-3120-a

'เครดิตบูโร' ระบุ ความเสี่ยงสะสม 3 ปี ส่งผลหนี้เสียรอบใหม่พุ่งกว่า 7 แสนล้านบาท จากหนี้ที่ปรับโครงสร้างไปแล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท เมื่อปี 58 พบคนอายุ 37 ปี เอ็นพีแอลเพิ่ม 14% สูงเกินค่าเฉลี่ยที่ 7% ชี้! ไตรมาส 2 จับตาใกล้ชิดสินเชื่อบ้าน เหตุทั้งดีเวลอปเปอร์และรายย่อยใช้เงินกู้


Screen Shot 2561-05-25 at 12.48.40

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ หรือ เครดิตบูโร ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2561 พบว่า สถาบันการเงินสมาชิกของเครดิตบูโรมียอดอนุมัติสินเชื่อขยายตัวที่ 5.5% มูลค่า 10.58 ล้านล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 10.02 ล้านล้านบาท ซึ่งหากคิดเฉพาะสินเชื่อภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ขยายตัว 4.4%


สุรพล


ทั้งนี้ จากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คุมเข้ม ส่งผลให้สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเหลือ 2.8% บัตรเครดิตยอดอนุมัติกลับมาโตที่ 7.5% เช่นเดียวกับ สินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 5.8% ส่วนสินเชื่อบ้าน แม้จะเติบโตที่ 7.2% แต่ยอดลดลงจากไตรมาส 4 ปีก่อน ด้าน วงเงินเบิกเกินบัญชี (โอดี) ติดลบ 0.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนจาก 6.18 แสนล้านบาท เป็น 6.15 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเศรษฐกิจดี บัญชีโอดีจะเติบโตและบัญชีอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเกษตร ทั้งจำนวนบัญชีและมูลค่าเพิ่มขึ้น 6.4% และ 6.7% ตามลำดับ จากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ

ขณะที่ ภาพรวมยังมีความเสี่ยงสะสมจากหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะยอดหนี้ปรับโครงสร้างสะสมเกินกว่า 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มี 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่า หลังจากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขระหว่างทาง ต้องปรับโครงสร้างหนี้กันใหม่ เมื่อเกิดหนี้ไหลย้อน (Re-Entry) ฉะนั้น แม้ยอดหนี้เอ็นพีแอลจะอยู่ที่ระดับ 6.7-7% ค่อนข้างทรงตัว และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อยู่ที่ 3.5% แต่ยังอยู่ในภาวะที่ไม่น่านิ่งนอนใจ


apptp4-3136-a

"ส่วนตัว ผมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะเมื่อพิจารณาทุกช่วงอายุของบุคคลที่เป็นหนี้ พบว่า บุคคลที่มีอายุ 37 ปี ซึ่งมูลหนี้รวม 3.5 แสนล้านบาทนั้น เป็นเอ็นพีแอลถึง 5 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า คนมีหนี้เสีย หรือเป็นเอ็นพีแอลในประวัติของตัวเอง โดยคนอายุ 37 ปี มีมูลหนี้เอ็นพีแอลถึง 14% สูงกว่าค่าเฉลี่ยเอ็นพีแอลที่ 6.7-7% ซึ่งคนอายุ 37 ปี ส่วนใหญ่ก่อหนี้ครบ ทั้งสินเชื่อบ้าน บุคคล รถยนต์ และบัตรเครดิต"


Print


ในส่วนของเครดิตบูโรยังสนใจแนวโน้มความต้องการสินเชื่อบ้านและโอกาสที่จะได้รับอนุมัติ เพราะไตรมาสแรกปีนี้ มียอดอนุมัติ 96,473 ล้านสัญญา ซึ่งลูกหนี้รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอยู่ในเจนวาย (ช่วงอายุ 21-38 ปี) 55% แล้ว ซึ่งข้อมูลยังสะท้อนทั้ง 2 กลุ่ม คือ เจนวายและเจนเอ็กซ์ (ช่วงอายุ 39-53 ปี) การผ่อนชำระมีปัญหารวม 1.8 แสนยูนิต โดยเจนวายผ่อนชำระมีปัญหาเพิ่มจากไตรมาสแรกประมาณ 7 หมื่นยูนิต ขณะที่ เอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านอยู่ที่ระดับ 4% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 3.61 ล้านล้านบาท ดังนั้น การควบคุมคุณภาพจึงเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตาอย่างใกล้ชิดในไตรมาส 2 เพราะเป็นสินเชื่อระยะยาว ประกอบกับทั้งดีเวลอปเปอร์และรายย่อยยังใช้วงเงินกู้

ทั้งนี้ แนวโน้มรายการสืบค้นข้อมูลทั้งปี คาดว่า จะเพิ่มเป็น 50 ล้านรายการ จาก 4 เดือนของปีนี้ หรือ สิ้นเดือน เม.ย. สถาบันการเงินสมาชิกของเครดิตบูโร มีจำนวนรายการสืบค้นข้อมูล 22.41 ล้านรายการ โดยการเข้าดูข้อมูลลูกค้าเก่า เพื่อบริหารความเสี่ยง 4 เดือน อยู่ที่ 17.67 ล้านรายการ แสดงว่า สถาบันการเงินสมาชิกยังกังวลคุณภาพสินเชื่อส่วนรายใหม่ หรือ บุคคลต้องการขอสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น จากปริมาณการเข้าดู 1.2 ล้านรายการต่อเดือน


app26309948_m

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า ข้อมูลของเครดิตบูโรสะท้อนภาพรวมการใช้สินเชื่อในระบบประกอบกับงานวิจัยของเครดิตบูโรที่เน้นกลุ่มคนเจนวายนั้น เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ จึงเป็นความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว หากคนกลุ่มนี้มีวินัยทางการเงินน้อย ขณะที่ แนวโน้มการเกิดของคนกลุ่มก็น้อยเช่นกัน จึงเป็นความกังวลระยะยาว

ส่วนการคัดกรองลูกค้านั้น ทุกสถาบันการเงินจะใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะใช้ควบคู่กับเครื่องมือคัดกรองของแต่ละธนาคารอีกระดับ เพราะแม้ว่า เจนวายจะมีความน่าห่วงเรื่องภาระหนี้ค่อนข้างครอบคลุมเกือบทุกประเภท แต่ไม่ใช่ทุกรายจะมีปัญหาวินัยทางการเงิน ดังนั้น ในการพิจารณาอาจจะดูว่า มีประวัติเคยค้างชำระหรือไม่ พฤติกรรมรับและจ่ายจากการเดินบัญชีกับธนาคารอย่างไร


aap-tp14-3046-a

ขณะเดียวกัน อาจแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม เช่น ผู้มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือนอาจจะมีโอกาสเพิ่มรายได้ในอนาคต และกลุ่มประกอบอาชีพอิสระ หรือ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ โดยอาจมีโอกาสได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อม เช่น การส่งออกสินค้า ราคาสินค้าปรับตัว หรือ ต้นทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มช่วงที่เหลือ ผู้ประกอบการพัฒนาโปรดักต์ตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งมีความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวราบขายดีเป็นที่สนใจ เป็นบ้านหลังแรกมากขึ้น ราคาตั้งแต่ 2-5 ล้านบาท เป็นต้น


……………….
เซกชัน : การเงิน โดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,368 วันที่ 24-26 พ.ค. 2561 หน้า 23-24

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ธ.ก.ส.ตั้งเป้าNPLไม่เกิน4%ปรับทีมใหม่ช่วยเกษตรกรเเละSMEs
กรุงไทยยกทรัพย์NPL เปิดประมูล 50 รายการ19พ.ค.นี้

e-book-1-503x62-7