รวม "กระทรวงวิทย์-สกอ.-หน่วยงานวิจัย" ใช้ชื่อ "กระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา" ตอบโจทย์ไทยเเลนด์ 4.0เเละยุทธศาสตร์ชาติ

19 พ.ค. 2561 | 10:31 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) แถลงข่าวในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ประจำปี 2561 เรื่อง “กระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา” ว่า ขณะนี้ มีความสับสนกรณีการยุบกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขอชี้แจงว่า จะไม่มีการยุบกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่จะมีการควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.)และหน่วยงานให้ทุนวิจัยของประเทศทั้งหมด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เป็นต้น มาเป็นกระทรวงใหม่ เบื้องต้นชื่อกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา หรืออาจจะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุดมศึกษา ก็ได้ โดยการควบรวมดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายปฎิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และปฎิรูปประเทศไทยสู่ 4.0

ตราสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำหรับเหตุผลในการควบรวมมี 4 เหตุผล คือ 1.เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 กระทรวงที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะต้องตอบโจทย์อาชีพคนไทยในอนาคตได้ 2.เตรียมผู้ประกอบการสู่ศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็น Startup และ SMEs
3.เตรียมเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ 4.ประเทศไทยกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ซึ่งต้องพัฒนาทั้งกำลังคนและเทคโนโลยี

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ต้องการแยกสกอ.ออกจากกระทรวง เพราะต้องการปรับสถานะของมหาวิทยาลัยใหม่ให้มีบทบาทชัดเจนขึ้น ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯนั้น บทบาทในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ หน่วยงานวิจัยของประเทศก็อยู่กระจัดกระจายและซ้ำซ้อน ดังนั้น รัฐบาลต้องการจัดองคาพยพใหม่ เพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า โครงสร้างกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา จะมี 4 กลุ่มงาน

กลุ่มแรก กลุ่มงานนโยบายและวางแผน งบประมาณ ทุนวิจัย (ทั้งทุนวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์) และประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ
14407567461440756916l กลุ่มที่สอง กลุ่มสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จะใช้รูปแบบคล้ายกับของสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Science) ในกลุ่มนี้ จะมีเรื่องงานวิจัย ดาวเทียม ดาราศาสตร์ นิวเคลียร์ ซินโครตรอน จะมีหน่วยงานอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือจิสด้า

กลุ่มที่สาม กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย ทั้งวิจัยพื้นฐาน วิจัยสู่อนาคต และวิจัยประยุกต์ ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์

กลุ่มที่สี่ คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎที่มีทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาตามภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่

โครงสร้างกระทรวงใหม่จะสามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งเร่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้

[caption id="attachment_282622" align="aligncenter" width="503"] กอบศักดิ์ ภูตระกูล กอบศักดิ์ ภูตระกูล[/caption]

เมื่อถามว่า ขณะนี้ มีการทำ พ.ร.บ.อุดมศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อตั้งกระทรวงอุดมศึกษา จะมีผลกระทบหรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า ไม่กระทบ สามารถนำที่ทำอยู่มาปรับเปลี่ยนและต่อยอดกันได้ ขั้นตอนจากนี้ จะมีการหารือกับนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อตั้งคณะทำงานการจัดตั้งกระทรวงใหม่ เมื่อถามอีกว่าถ้ามีการควบรวมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์กับสำนักงานคณะอุดมศึกษา ตำแหน่งซี 11 ซี 10 รวมมทั้งรวมทั้งตำแหน่งบริหารจะมีปัญหาหรือไม่ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะกระทรวงใหม่ น่าจะมีรูปแบบใช้ระบบราชการน้อยมาก จะใช้ระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ ตั้งง่ายยุบง่าย

เมื่อถามอีกว่า จะมีหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หน่วยงานใดจะอยู่หรือไปสังกัดกระทรวงอื่นหรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า ไม่น่าจะมี เพราะตามโครงสร้างมีการแบ่งงานกันชัดเจน เพราะกระทรวงใหมที่ตั้งขึ้นมองประเทศไทยไปสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์สร้างชาติ เพราะในประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น ก็มีการนำกระทรวงวิทยาศาสตร์กับกระทรวงศึกษาธิการ รวมกัน ในยุโรปอย่าง สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและเยอรมัน ก็มีการตั้งกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษาขึ้นมารูปแบบเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการ ยืนยันว่ากระทรวงใหม่จะตอบโจทย์อนาคตของประเทศได้ เป็นการปฎิรูประบบราชการอย่างแท้จริง