เตรียมนับถอยหลัง! 'คนไทย' เตรียมขึ้นอันดับ 1 "สังคมคนแก่" เร็วสุดในอาเซียน

15 เม.ย. 2561 | 13:25 น.
150461-2015

“นัยทางสังคมและเศรษฐกิจของปรากฏการณ์นี้ ลึกซึ้ง กว้างไกล เกินขอบเขตของผู้สูงอายุคนหนึ่งและครอบครัวที่ใกล้ชิด ส่งผลต่อสังคมวงกว้างและประชาคมโลกแบบไม่เคยมีมาก่อน”

ส่วนหนึ่งของคำกล่าวโดย นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ในรายงาน “สูงวัยในศตวรรษที่ 21 : การเฉลิมฉลองและความท้าทาย (Aging in the Twenty-First Century : A Celebration and A Challenge)” ชี้ให้เห็นภาพใหญ่ของยุคปัจจุบัน ที่ซ้อนทับภายใต้การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่ ‘เจเนอเรชัน’ เข้ามามีส่วนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ให้สนองตอบความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง อันเป็นผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้อย่างทันท่วงที การพัฒนาและการแข่งกันเพื่อไปถึงเป้าหมาย ทำให้ประชากรที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี มุ่งตอบสนองความต้องการในชีวิตด้านหน้าที่การงานมากกว่าการแต่งงานและการมีบุตร ด้วยเหตุนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยไป อายุที่มากขึ้นทำให้ภาวะการมีบุตรยากมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ประกอบกับ เทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลรักษาตัวเองที่ดีขึ้นในกลุ่มของผู้สูงอายุ ระยะห่างจำนวนประชากรแต่ละช่วงวัยที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากโครงสร้างประชากรไทยช่วงต้นปี 2500 ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปทรงพีระมิดฐานกว้าง อันบ่งชี้ว่า มีสัดส่วนของประชากรวัยเด็กที่มีจำนวนมากที่สุด ขณะที่ วัยทำงานช่วงวัยแรงงานที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนแกนกลางของพีระมิด และมีกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัดส่วนน้อยที่สุดเป็นส่วนยอดแหลม


07-3352

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2513, 2533, 2553 และ 2583 โดยสำนักงานสถิติ พบว่า ในปี พ.ศ. 2553 สัดส่วนประชากรวัยเด็ก ซึ่งเคยมีจำนวนมากที่สุดถึงร้อยละ 45 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 19 ส่งผลให้ฐานพีระมิด ซึ่งเคยปรากฏเป็นสัดส่วนที่กว้างที่สุด เริ่มแคบลง ในขณะที่ สัดส่วนของประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยและบริบทแวดล้อมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวขึ้นและอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากการแบ่งระดับสังคมผู้สูงอายุในแต่ละประเทศ โดยสหประชาชาติใน 3 ระดับ คือ

ระดับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 เพิ่มเป็นร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ

ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ ประเทศที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 เพิ่มเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ

ระดับสังคมผู้สูงอายุรับสุดยอด (Super-aged Society หรือ Hyper-aged Society) คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

จากระดับดังกล่าวและการคาดการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2567-2568 เมื่อพิจารณาร่วมกับรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลการคาดประมาณประชากรของไทย พ.ศ. 2553-2583 โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเผยแพร่ในปี 2556 ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ในปี 2575 เป็นประเทศที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่เร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับการศึกษาขององค์กร Help Age International ที่เข้าไปศึกษาและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคาดว่า ในปี 2583 (ค.ศ. 2040) จะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด

การเร่งเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง ในฐานะปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ผลกระทบในระดับมหภาค ทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายได้ประชากร การออม และการลงทุน การกำหนดงบประมาณของรัฐบาลในการจ้างงานและการเพิ่มศักยภาพของแรงงานในระบบปฃ การกำหนดนโยบายของรัฐบาลในการเร่งสนับสนุนเรื่องการมีบุตรอย่างเหมาะสม ไม่รวมถึงผลกระทบในระดับจุลภาค อย่าง ผลต่อตลาดผู้บริโภค ทั้งในด้านของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และการบริการ ซึ่งมาตรการ นโยบาย และแนวทางการรับมือเหล่านี้ ต่างต้องใช้เวลาในการวางแผนและการดำเนินการอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และเร่งด่วน เพื่อให้สัมฤทธิผลอย่างทันท่วงที ต่อแนวโน้มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี


TP-15-3298-8

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,352 วันที่ 29-31 มี.ค. 2561 หน้า 07
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ญี่ปุ่นแก่มาก จะกระทบไทยอย่างไร
● งบอุ้มสังคมสูงวัยพุ่ง อีก20ปีเฉียด5แสนล้าน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว