'ท่าเรือแหลมฉบัง' เดินหน้าลุยแผนพัฒนา! ก้าวสู่การเป็นท่าเรือ Top 10 ของโลก

05 เม.ย. 2561 | 04:34 น.
050461-1125

‘ท่าเรือแหลมฉบัง’ เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
มีพื้นที่ขนาด 8,600 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือที่เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 15 ท่า ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 8 ท่า, ท่าเทียบเรือชายฝั่งและอเนกประสงค์ 1 ท่า, ท่าเทียบเรือ Ro/Ro 1 ท่า, ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ 2 ท่า, ท่าเทียบเรือ Ro/Ro เรือสินค้าทั่วไป ตู้สินค้า 1 ท่า, ท่าเทียบเรือโดยสารและเรือ Ro/Ro 1 ท่า, ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป ประเภทเทกอง 1 ท่า และอู่ต่อและซ่อมเรือ 1 ท่า เปิดบริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถรองรับได้ทั้งเรือสินค้าทั่วไป จนถึงเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่พิเศษ (Super Post Panamax) รวมทั้งบริการพื้นฐานต่าง ๆ ตามมาตรฐานท่าเรือพาณิชย์สากล ทั้งในด้านการบริการนำร่องเรือสินค้า บริการเรือลากจูง เพื่อเข้าเทียบท่าที่มีอุปกรณ์ขนถ่ายและยกสินค้าอย่างครบครัน รวมไปถึงพื้นที่สนับสนุนสำหรับประกอบการท่าเทียบเรือ คือ คลังสินค้าทั่วไป, คลังสินค้าอันตราย และสถานที่กระจายสินค้า ในปี 2560 ท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าประมาณ 7.6 ล้านทีอียู และรถยนต์ประมาณ 1.2 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 70 ของขีดความสามารถของท่าเรือที่รองรับตู้สินค้าได้สูงสุดที่ประมาณ 11 ล้านทีอียูต่อปี และรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคันต่อปี


07-3347-29

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพเมืองท่าแห่งอนาคต เชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมภูมิภาค พัฒนาสู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator-SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอ และพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายว่า หากแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ช่องทางการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังคล่องตัวมากขึ้น จากปัจจุบันที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือแห่งนี้ 11 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี และยังส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่การเป็นท่าเรือที่ติดอันดับ Top 10 ของโลก


 

[caption id="attachment_274011" align="aligncenter" width="368"] ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร
ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)[/caption]


ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ และเป็นการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต ภายใต้โครงการพัฒนา EEC ปัจจุบัน การกำหนดวิสัยสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าของท่าเทียบเรือต่าง ๆ ในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้ารวมกัน 11.10 ล้าน TEU./ปี หากคิดตัวเลขที่ระดับ 75% ของวิสัยสามารถรวม และเมื่อนำตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวปริมาณตู้สินค้าประมาณ 5% จะพบว่า ท่าเรือแหลมฉบังจำเป็นต้องเปิดท่าเทียบเรือท่าแรกในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ในปีงบประมาณ 2568 โดยมีพื้นที่ 1,600 ไร่ แอ่งจอดเรือยาว 4,500 เมตร ลึก -18.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สามารถรองรับเรือสินค้าขนาด 100,000 DWT มีท่าเทียบเรือรวม 6 ท่า ท่าเรือ Ro-Ro 1 ท่า รองรับสินค้ารถยนต์ 1 ล้านคัน/ปี, ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 4 ท่า สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า รวมทั้งสิ้น 7 ล้านทีอียู/ปี, ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 1 ท่า สามารถรองรับตู้สินค้าชายฝั่งได้ 1 ล้านทีอียู/ปี นอกจากนี้ ยังมีย่านขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ประมาณ 1 ล้านทีอียู/ปี

ในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EHIA) การท่าเรือฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะอนุมัติในเดือน มิ.ย. 2561 หลังจากนั้นประมาณกลางปี 2561 กทท. จะเริ่มกระบวนสรรหาตัวผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ คาดว่าจะได้ตัวผู้ประกอบการในเดือน พ.ย. 2561 สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะเริ่มกระบวนการสรรหาตัวผู้รับจ้างประมาณปลายปี 2561 และคาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างก่อสร้างภายในต้นปี 2562


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นับเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและคมนาคมทางน้ำ โดยเฉพาะแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ที่เป็นแผนเร่งด่วนที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสู่เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการคมนาคมขนส่ง และกระจายสินค้าตลอดจนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียด้วย

ร.ต.ต.มนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะพัฒนาโครงการแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังยังคงดำเนินธุรกิจควบคู่กับการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความสำคัญต่อการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนในพื้นที่รอบท่าเรือแหลมฉบัง ด้วยการสร้างจิตสำนึกอันดีในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานทุกระดับ ซึ่งในแต่ละปีจะมีโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะทำงานดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการสร้างคุณค่าร่วมของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยแบ่งเป็นโครงการด้านการศึกษา สังคม และด้านสิ่งแวดล้อม


07-3347-28

โครงการด้านการศึกษานับเป็นโครงการที่สำคัญที่ทางท่าเรือแหลมฉบังเล็งเห็นว่า การพัฒนาเยาวชนให้ก้าวสู่สากลจะต้องมีศักยภาพในการคิดอ่านและอยู่รอบพื้นที่ จึงมีการส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีทักษะด้านอาชีพ เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพ เป็นการเพิ่มรายได้ นอกจากส่งเสริมอาชีพแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังยังห่วงใยใส่ใจสุขภาพชุมชน ซึ่งมีแนวคิดว่า สุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ จึงมีแนวทางที่จะพัฒนาประชาชนให้มีสุขภาพอนามัยดี ได้รับบริการทางด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมสุขภาพอนามัยด้านกีฬาให้กับพนักงานชุมชน ซึ่งการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะสามารถช่วยพัฒนาคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยพัฒนาให้มีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพจิตที่ดี สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือ ก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างกันทั้งในชุมชนและภายนอกชุมชน รวมถึงโครงการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สร้างความรู้เข้าใจในเรื่องความปลอดภัยให้กับพนักงานท่าเรือแหลมฉบัง ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ความเข้าใจ มีความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย

นอกจากจะมุ่งเน้นการยกระดับให้เป็นมาตรฐานสากลและการบริหารที่มีธรรมาภิบาลตามกลยุทธ์หลักที่ 9 แล้ว ท่าเรือแหลมฉบังยังให้ความสำคัญในด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกัน เช่น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตสาธารณะ ซึ่งการมีจิตสาธารณะเป็นสิ่งที่ปลูกฝังในเรื่องความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม การบริจาคโลหิต ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดมาอย่างต่อเนื่องของท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ ยังมีโครงการอีกมากมายหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการมอบทุนการศึกษา “คนดีลูกน้ำเค็ม”, โครงการสนับสนุนอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนผู้สูงอายุชุมชนบ้านไร่หนึ่ง, โครงการ CSR เกี่ยวกับคนพิการ มีการจัดทำรถเข็นให้คนพิการในโครงการ “ล้อเลื่อนเพื่อคนพิการ”, โครงการ “พลังแผ่นดิน ตามรอยพ่อ”, โครงการ “ปั่น ปัน รัก เพื่อเด็กและคนพิการ”, โครงการ “ฟุตบอลเด็กเพื่ออนาคต 2017” สนับสนุนจัดซื้อของขวัญในการจับสลากและจัดซุ้มอาหารให้กับคนพิการในสถานสงเคราะห์คนพิการการุณยเวศม์ และโครงการ “ผลิตหนังสือระบบเดซี เพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต สำหรับคนตาบอดและผู้พิการ ทางสื่อสิ่งพิมพ์”


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

และโครงการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากความต้องการใช้พื้นที่ในการทำธุรกิจที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุที่ปริมาณต้นไม้ที่เคยมีต้องถูกทำลายลง และนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคืนธรรมชาติ สร้างสมดุลให้กับโลกอย่างหนึ่ง ทลฉ. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ท่าเรือแหลมฉบังจึงได้ริเริ่มทำโครงการนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ท่าเรือแหลมฉบังจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เพราะต้นไม้จะช่วยฟอกอากาศและกรองมลพิษ เปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มปอดของพนักงานผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และชุมชนใกล้เคียง และโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนและชายฝั่งทะเลแหลมฉบัง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีแนวคิดในการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลย ในพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 28 ไร่ ซึ่งดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าบริเวณป่าชายเลนจะถูกล้อมรอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ด้วยความร่วมมือของท่าเรือแหลมฉบัง และหน่วยงานในพื้นที่ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ป่าชายเลนยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีพรรณไม้ และสัตว์นานาชนิด และมีความผูกพันใกล้ชิดกับชุมชนบ้านแหลมฉบังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติอย่างดียิ่ง ให้แก่เด็กนักเรียน บุคคลทั่วไปในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


07-3347-30

อีกทั้ง ท่าเรือแหลมฉบังยังจัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อติดตามงาน โครงการ รวมทั้งหารือในประเด็นข้อกังวลต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานราชการ และชุมชนรอบท่าเรือแหลมฉบัง รวม 39 ชุมชน เป็นประจำทุกเดือน ทั้งยังจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม ประเพณี และเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดขึ้นที่เทศบาล โรงเรียน และวัดในชุมชนรอบท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันอย่างต่อเนื่อง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11-14 มี.ค. 2561 หน้า 07
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การท่าเรือฯ แจงกรณีรถเมล์ NGV เสียหายในท่าเรือแหลมฉบัง
เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ | รถไฟเชื่อม ‘ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือน้ำลึกทวาย’ ลุ้นบรรจุโครงข่ายในแผนพัฒนา ‘อีอีซี’


e-book-1-503x62