ราคายางพารายังแกว่งตัว ยางแผ่นขึ้น-ยางดิบลง-สหภาพฯค้านเอกชนเก็บเงินเซสส์

27 ม.ค. 2561 | 02:38 น.
ชาวสวนชี้ขึ้นบัญชียางสินค้าควบคุมยังไม่ได้ผลดันราคาขยับ ยางแผ่นดิบร่วง 1 บาท/กก.ทำรายได้สูญ 4,000 ล้าน ขณะ “ฉัตรเฉลิม” ทุบโต๊ะจ่ายเยียวยาหยุดกรีดยางกว่า 33 ล้าน เฉพาะลูกจ้าง กยท. อีกด้านสหภาพฯ กยท. ฮือค้านจ้างเอกชนเก็บเงินเซสส์ ซัดหั่นรายได้ปีละ 400 ล้านเอื้อใคร

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังเกาะติดสถานการณ์ราคายางพาราอย่างต่อเนื่อง หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ขึ้นบัญชียางพาราเป็นสินค้าควบคุมตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งพบว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นดิบร่วงหนักสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคมโดยปรับตัวลดลงจากวันก่อนที่อยู่ระดับ 46 บาท ลงเหลือ 45 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงวันเดียวกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม (กราฟิกประกอบ)

TP9-3334-A นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชยสท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขึ้นบัญชียางพาราเป็นสินค้าควบคุมไม่ได้ส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเวลานี้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)รัฐวิสาหกิจที่ดูแลยางพาราของประเทศ

โดยตรงได้ไปร่วมมือกับผู้ค้ายาง ซึ่งเน้นทำกำไร ดังนั้นจะทำให้ราคายางในประเทศปรับตัวขึ้นได้คงยาก ทั้งนี้จากราคายางแผ่นดิบที่ลดลงทุก1 บาท/กิโลกรัม (กก.) จะทำให้รายได้เกษตรกรหายไปรวมกว่า 4,000 ล้านบาท(คิดจากไทยส่งออกยางปีละกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ดังนั้น กยท. ควรถอนหุ้นออกจากบริษัท ร่วมทุนยางพารา จำกัด ที่ลงทุนร่วมกับบริษัทผู้ค้ายางรายใหญ่ออกมาโดยเร็ว เพราะยิ่งช้าจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ เกิดความเสียหายร้ายแรง และจะสร้างความแตกแยกระหว่างเกษตรกรชาวสวนยาง กับผู้บริหาร

สอดคล้องกับนายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานคณะกรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่กล่าวว่า การขึ้นบัญชียางพาราเป็นสินค้าควบคุม หากจะให้ได้ผลดันราคายางให้ขยับขึ้น รัฐต้องประกาศเลยว่าผู้ค้าจะต้องซื้อยางพาราในราคาไม่ตํ่ากว่าต้นทุนของเกษตรกร ถ้าทำได้เกษตรกรจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าประกาศราคาแนะนำแบบปาล์มนํ้ามัน ไม่เกิดประโยชน์เพราะผู้ค้าจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้

728x90-03-3-503x62-3-503x62 ด้านแหล่งข่าวจาก กยท. เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) ที่มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานกรรมการ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 มีมติเห็นชอบเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาพนักงานรับจ้างกรีดยาง ของ กยท.กว่า 1,000 คน โดยใช้เงินกองทุนพัฒนายางพารา กว่า 33 ล้านบาทในการจ่าย 2 เดือน คือ มกราคมกับกุมภาพันธ์ ส่วนมีนาคมปิดกรีดเป็นประจำทุกปีอยู่แล้วไม่ต้องจ่าย ส่วนพนักงานจ้างกรีดของกรมวิชาการเกษตร ทางกรมจ่ายเป็นเงินเดือนไม่มีผลกระทบ ส่วนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ต้องให้ทางผู้บริหารไปทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือโดยตรง

นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความเสียหายจากสวนยางของ กยท.ต้องหยุดกรีด(เพื่อลดซัพพลายยาง และดันราคา) เป็นหลักพันล้านใครจะชดใช้ให้ อย่างไรก็ดีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาเป็นสิทธิ์ที่พนักงานควรจะได้รับ ส่วนกรณีผลจากการปรับอัตราการเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง(เงินเซสส์)ในอัตราใหม่ 2 บาท/กก.เป็นอัตราคงที่ ส่งผลให้ในปี 2560 กยท.เก็บเงินเซสส์จากผู้ส่งออกยางได้สูงกว่า 9,000 ล้านบาท แต่ทาง กยท.ระบุว่าการเก็บระบบนี้อาจทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะยังมีปริมาณยางจำนวนมากที่ไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมก่อนส่งออก จึงคิดจะจ้างเอกชนให้เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งทางสหภาพฯไม่เห็นด้วย เพราะทุกวันนี้การเก็บเงินเซสส์ ยังไม่พอค่าจ้างพนักงานกว่า 3,000 คนเลย และหากจ้างเอกชนจัดเก็บ พนักงานที่ทำหน้าที่นี้จะไปทำอะไร ขณะที่ต้องเสียค่าจ้างเอกชนจัดเก็บกว่า 400 ล้านบาท/ปีคุ้มหรือไม่ และเอื้อใคร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9