แพลตฟอร์มหัวใจธุรกิจยุคใหม่ ‘เศรษฐพงค์’ชี้ตัวแปรอยู่รอดยุคแข่งขันรุนแรง

10 ม.ค. 2561 | 01:36 น.
“เศรษฐกิจดิจิตอล” กำลังทำลายอำนาจระบบเศรษฐกิจรูปแบบดั้งเดิมที่มีการควบคุมจากศูนย์กลาง ไปสู่การกระจายอำนาจและกระจายขีดความสามารถ ชี้ แพลตฟอร์ม โซเชียล มีเดีย ตัวแปรทุกอุตสาหกรรมทั้งสื่อ และสถาบันการเงิน

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า สำหรับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจดิจิตอล” หากความเข้าใจที่ไม่ลึกซึ้งเพียงพอในความหมายของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่แล้วอาจเป็นเหตุให้ผู้นำและผู้บริหารในหลายประเทศเดินไปผิดทิศทาง

[caption id="attachment_247826" align="aligncenter" width="335"] พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ[/caption]

อย่างไรก็ตามการสร้างยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิตอลให้แก่ประเทศและองค์กรนั้น หากเป็นเพียงการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลมาช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วขึ้น และช่วยในการลดต้นทุน แล้วคิดว่าน่าจะเพียงพอที่จะทำให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันต่อไปได้นั้น น่าจะเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเป็นอย่างมาก เพราะเนื่องจากเศรษฐกิจดิจิตอลไม่ได้เป็นเพียงการเกิดปรากฏการณ์ที่มีการแข่งขันกันรุนแรงและรวดเร็วเท่านั้น แต่ความหมายที่เป็นแก่นแท้ของมันคือ “การทำลายอำนาจระบบเศรษฐกิจรูปแบบดั้งเดิมที่มีการควบคุมจากศูนย์กลาง (Centralized) ไปสู่การกระจายอำนาจและกระจายขีดความสามารถ (Decentralized)” ตัวอย่างการกระจายอำนาจ (Decentralized) ในธุรกิจสื่อที่กำลังปรากฏให้เห็นอย่างรุนแรงและชัดเจน ที่ทำให้ธุรกิจสื่อดั้งเดิมที่เคยทรงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกิจการโทรคมนาคม ก็กำลังจะถูกแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย (social media) ลดทอนอำนาจการรวมศูนย์ลงไปสู่การกระจาย อำนาจ ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตสื่อเองด้วยการโพสต์ลงบน social media และยังสามารถแพร่ภาพแบบ realtime ได้โดยไม่ต้องอาศัยช่องโทรทัศน์หรืออาศัยบริษัทสื่อบันเทิงที่มีชื่อเสียงที่เคยรวบอำนาจอยู่ไม่กี่บริษัทอีกต่อไป จนทำให้บริษัทสื่อและบันเทิงต้องพบกับจุดจบไปหลายราย (ทั่วโลก) ในกิจการโทรคมนาคมที่บริษัทประกอบกิจการโทรคมนาคมทำหน้าที่ควบคุมการติดต่อสื่อสารกลับต้องมาโดนบั่นทอนอำนาจด้วยการที่ประชาชนมีอิสระเสรีในการสื่อสารในรูปแบบที่เปลี่ยนไปด้วยการสื่อสารผ่าน applications ที่เราเรียกว่า OTT เช่น Line, Facebook และอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย จนต้องปรับ business model ใหม่เพื่อความอยู่รอดด้วยการนำเอาจุดแข็งที่มีในด้าน Big Data มาใช้ในธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดต่อไป

ในส่วนของธุรกิจการเงินการธนาคารก็กำลังจะถูกลดทอนอำนาจที่เคยรวมศูนย์ไว้เพราะการปรากฏตัวของเทคโนโลยี Blockchain ที่กำลังจะทำให้เกิดการการกระจายอำนาจ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สร้างบริษัทในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual organization) ขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์ม Blockchain ที่ขับเคลื่อนมูลค่าด้วย Cryptocurrency เช่น Bitcoin, Ethereum และ Ripple เป็นต้น จนทำให้ผู้คนสามารถทำธุรกรรมกันเองโดยตรงแบบ peer-to-peer โดยไม่ต้องผ่านธนาคารที่เคยเป็นตัวกลางแบบรวมศูนย์อีกต่อไป ซึ่งจะเริ่มสร้างความหนาวสะท้านให้กับแวดวงธุรกิจการเงินการธนาคารในอนาคตอันใกล้ หากยังไม่เชื่อและยังไม่ปรับตัว

ขณะที่ธุรกิจพลังงานก็กำลังถูกเทคโนโลยี Microgrid ที่ทำหน้าที่เป็นโครงข่ายกระจายพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการซื้อขาย (Trade) พลังงานผ่าน Cryptocurrency ที่สร้างอยู่บนแพลตฟอร์ม Blockchain จึงเป็นการทำลายการควบคุมแบบรวมศูนย์ (centralized) ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากศูนย์กลางด้วยการสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถผลิตขึ้นเองในบ้านเรือนประชาชน และสามารถซื้อขาย (Trade) พลังงานที่เก็บเอาไว้ใน storage กันเองในหมู่อาคารบ้านเรือน ด้วยการแลกเปลี่ยนด้วย Cryptocurrency เช่น ในสกุล Power Ledger ซึ่งเป็น Cryptocurrency สกุลหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และอาจเป็นในรูปแบบธุรกรรม smart contract ได้อีกด้วย ตัวอย่างดังกล่าว เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งคำว่า “เศรษฐกิจดิจิตอล” นั้น มีความหมายที่ลึกซึ้งเกินกว่าการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลเท่านั้น ซึ่งแก่นแท้ก็คือ เข้ามาเปลี่ยนระบบนิเวศของทุกๆอุตสาหกรรมจากการควบคุมแบบรวมศูนย์ (Centralized) ไปสู่การกระจายอำนาจ (Decentralized) ในการผลิตและกระจายความเป็นอิสระให้ประชาชนมีสิทธิในการผลิตสิ่งที่มีมูลค่าได้ด้วยตัวเอง และสามารถทำธุรกรรมกันเองโดยไม่ต้องมีตัวกลาง ซึ่งเทคโนโลยีในอดีตไม่สามารถทำได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9