สุดต้านเสียงค้าน! สรรพากรรื้อ! ‘ภาษีออนไลน์’ ยันไม่ขัดกับอนุสัญญาภาษีซ้อน

29 พ.ย. 2560 | 11:10 น.
สรรพากรรื้อภาษีอี-คอมเมิร์ซ หลังเสียงค้านอื้อ ยืนยันไม่ขัดกับอนุสัญญาภาษีซ้อน เหตุมีกรอบความร่วมมือโออีซีดีที่ครอบคลุมกว่า 100 ประเทศรองรับ

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ...รองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็ก ทรอนิกส์(e-Business) ที่กรมสรรพากรปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 แห่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไปตั้งแต่วันที่ 11กรกฎาคม2560 ซึ่งปรากฏว่า มีเสียงคัดค้านจำนวนมาก

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สรรพากรกำลังจัดทำร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ ...) พ.ศ....รองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ เพื่อนำความคิดเห็นต่างๆมาแก้ไขปรับปรุงให้ครอบคลุมทุกประเด็น ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะมีประเด็นรายละเอียดจำนวนมาก แต่ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการขัดกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยได้ลงนามไปกับประเทศต่างๆเกือบ 100 ประเทศอย่างแน่นอน เพราะเป็นการแก้ไขประมวลรัษฎากรไม่ใช่การออกกฎหมายใหม่

[caption id="attachment_176867" align="aligncenter" width="392"] ประสงค์ พูนธเนศ ประสงค์ พูนธเนศ[/caption]

นอกจากนี้ไทยยังเป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) ร่วมกับกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ OECD มีกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคี BEPS (Base erosion and profit shifting) คือ การหลีกเลี่ยงภาษีโดยอาศัยช่องว่างและกฎเกณฑ์ทางภาษีที่ไม่สอดคล้องกันและการเคลื่อนย้ายกำไร เพื่อเสียภาษีในประเทศที่มีภาระภาษีตํ่าหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย ซึ่งแนวทางดังกล่าวเพื่อสร้างความสอดคล้องกันของระบบภาษี โดยลดช่องว่างความแตกต่างลง รวมถึงจัด สรรอำนาจในการจัดเก็บภาษีของประเทศนั้นๆให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่ทำให้เกิดมูลค่ารวมถึงหลีกเลี่ยงการกีดกันและคงความยุติธรรมในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล

นายประสงค์ กล่าวว่า OECD ร่วมแก้ไขแนวทางดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีของทั่วโลก เพราะแต่ละประเทศก็เจอปัญหาเดียวกันในการค้ายุคดิจิตอล ซึ่งไทยเองก็ร่วมลงนามไปด้วย ดังนั้นหากแต่ละประเทศทำตามมติดังกล่าวให้ถือว่าได้รับการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนไปในตัวด้วยทุกชาติ ซึ่งมีกว่า 190 ประเทศ เพื่อให้ทุกประเทศได้รับความเป็นธรรม

“เรารับฟังทุกความคิดเห็นและความห่วงใยและเก็บมาคิดทุกประเด็น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ที่สุด อย่างข้อกำหนดที่ว่าหากมีการใช้โดเมนท้องถิ่นไทยให้ถือว่ามีสถานประกอบการในไทยนั้นทั่วโลกก็ทำแบบนี้ ไม่ใช่เราคิดคนเดียว ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งแก้ไขร่างใหม่ เพื่อเสนอกระทรวงการคลังโดยเร็วที่สุด” นายประสงค์ กล่าว สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

บาร์ไลน์ฐาน 1.ให้นิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และในการประกอบกิจการโดยมีการใช้โดเมนท้องถิ่นของไทย มีการสร้างระบบการชำระเงินเป็นสกุลเงินไทยหรือมีการโอนเงินจากประเทศไทย ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทย เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรนั้น

2.กำหนดให้นิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และไม่ได้ประกอบกิจการในไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการดังกล่าวอันเป็นเงินได้ประเภทค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ หรือประเภทที่กระทรวงกำหนด ให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายในอัตรา 15% และนำส่งกรมสรรพากร

3.ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างหรือให้บริการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

4. กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้ขายสินค้าไม่มีรูปร่างหรือให้บริการผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันของผู้อื่น กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันนั้นเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการดังกล่าว ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการ และเมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มีสิทธิหน้าที่ และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการนั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว