จีนมั่นใจ! อีอีซี ‘จิ๊กซอว์’ สำคัญ เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ ‘Belt and Road’ ในอาเซียน

12 พ.ย. 2560 | 05:13 น.
1204

ในงานเสวนานุกรมความรู้ ครั้งที่ 8 ว่าด้วยเรื่อง “เชื่อมโยงเอเชีย : โอกาสใหม่เพื่อการประสานความร่วมมือในเชิงปฏิบัติการระหว่างจีน-ไทย” จัดโดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็ว ๆ นี้ การเชื่อมโยงระหว่าง 2 ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทยและจีน ได้ถูกฉายภาพขึ้นอย่างชัดเจนอีกครั้ง โดยจีนนั้นกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีโครงการ The Belt and Road หรือ เส้นทางสายไหมยุคใหม่ เป็นแกนหลัก เสริมด้วยนโยบาย Made in China 2025 ที่โฟกัสการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ชูนวัตกรรมไฮเทค สอดคล้องอย่างลงตัวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีอภิมหาโปรเจ็กต์ อย่าง ‘อีอีซี’ เป็นหัวใจสำคัญ

ดร.ถัง ฉีฟาง นักวิจัยจากสถาบัน China Institute of International Studies ผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียน กล่าวถึงศักยภาพของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย ว่า สามารถที่จะพัฒนาให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ The Belt and Road Initiative ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเส้นทางสายไหมเส้นที่มุ่งเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะลงมาจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ของจีน ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ไทย และสามารถเชื่อมต่อด้วยระบบรางเข้าสู่มาเลเซียไปจนถึงสิงคโปร์

“ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะก่อให้เกิด 5 การเชื่อมโยง ระหว่างจีนกับประเทศที่เส้นทางพาดผ่าน ได้แก่ การเชื่อมโยงนโยบายภาครัฐ การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น ระบบรถไฟความเร็วสูงและโลจิสติกส์) การเชื่อมโยงทางการค้า การเชื่อมโยงด้านการเงิน และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน”


วิทยุพลังงาน

ในส่วนของการเชื่อมโยงกับไทยนั้น พื้นที่อีอีซีจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก และเป็นบทบาทในระยะยาว ทั้งนี้ เห็นว่า อีอีซีมีจุดเด่นที่น่าดึงดูดใจหลายด้าน อาทิ การที่รัฐบาลไทยให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยกฎหมายพิเศษ อย่าง ม.44 ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้อย่างรวดเร็ว ทลายอุปสรรคที่เคยมีอยู่เดิม นอกจากนี้ การสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐในรูปแบบ PPP ก็จะยิ่งทำให้ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น (เร็วกว่าการให้รัฐลงทุนอยู่แต่เพียงฝ่ายเดียว) นอกจากนี้ ยังมีการวางผังจัดโซนมาอย่างดี ก่อให้เกิดเครือข่ายใหม่ ด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับ สิทธิประโยชน์ส่งเสริมด้านการลงทุนในพื้นที่ที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่เน้นเทคโนโลยี ซึ่งจีนเองก็กำลังให้ความสำคัญ


MP11-3311-2A

ด้าน ศ.เจิ้ง จิ่นหรง หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบัน China Outsourcing Institute จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนให้ออกไปลงทุนในต่างแดน ทำให้ในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) มูลค่ารวมการลงทุนในต่างประเทศของจีนมีสูงราว 191,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยมีการลงทุนใน 190 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียถึง 67% ในอดีตมักจะเป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ออกไปลงทุนในต่างแดน แต่ปัจจุบันจะเห็นกระแสการออกไปลงทุนของบริษัทเอกชนจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยประเทศที่อยู่ในแถบเส้นทาง The Belt and Road จะเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุนจีน ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

ในปีที่ผ่านมา มีการลงทุนของจีนในไทยถึง 400 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ จีนยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ดร.เจิ่นหรง ระบุว่า แนวโน้มการลงทุนในอนาคตยิ่งจะมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลากหลายจุดเด่นที่ไทยมีอยู่ และที่สำคัญ คือ ไทยมีนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ที่สอดคล้องอย่างมากกับนโยบายของจีน ที่เรียกว่า ‘Made in China 2025’ เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14

“มีแนวโน้มว่า จีนจะเข้ามาลงทุนในด้าน อี-คอมเมิร์ซ การผลิตอุปกรณ์ที่ทันสมัย และธุรกิจภาคบริการ เช่น บริการรับชำระเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต บริการด้านการท่องเที่ยวและการให้คำปรึกษา เหล่านี้เป็นกระแสที่เราจะเห็นมากขึ้น”

และเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยในระยะยาว ดร.จิ่นหรง แนะนำว่า ไทยควรหาโอกาสจัดกิจกรรมจับคู่กับบริษัทจีนที่อยู่ในเมืองใหญ่ อย่าง ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ เจาะเป็นเมือง ๆ ไป ให้พวกเขารู้จักประเทศไทยมากขึ้น และชักชวนเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ เขามองว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่จีนน่าจะเข้ามาร่วมลงทุนในอีอีซี ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ที่ทันสมัย อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์ (ซึ่งกำลังเฟื่องฟูในจีน) ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ข้ามประเทศ และอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นแนวเกษตรยุคใหม่


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5-8 พ.ย. 2560 หน้า 11


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-13