‘พัทยา’ทำเลทองอีอีซี ปักหมุดลงทุนท่องเที่ยว

25 ต.ค. 2560 | 09:44 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

หากกล่าวถึงพื้นที่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่าง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองพัทยา ซึ่งมีแต้มต่อความเป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่แล้ว วันนี้กลายเป็นพื้นที่ไข่แดง ที่จะได้รับอานิสงส์มากที่สุด จากการขับเคลื่อนนโยบายอีอีซีของรัฐบาล

++ธุรกิจเฮโลขยับลงทุนใหม่
แม้ราคาที่ดินในเมืองพัทยา ขณะนี้จะพุ่งขึ้นเป็นกว่า 150-200 ล้านบาทต่อไร่แล้วก็ ตาม (ไม่นับรวมคนที่มีแลนด์แบงก์อยู่ที่สามารถลงทุนได้อยู่แล้ว) วันนี้เราก็ยังคงเห็นการลงทุนในโครงการใหม่ๆด้านการท่องเที่ยวที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างหลายโครงการ รวมมูลค่านับหมื่นล้านบาท

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโรงแรมใหม่ในพัทยา ที่กำลังเตรียมจะเปิดให้บริการในช่วง 3 ปีนี้ ก็มีอยู่หลายแห่ง ไล่ตั้งแต่การลงทุนของ ฮาบิแทท กรุ๊ป 4 แห่ง กับโรงแรมภายใต้แบรนด์ ครอสทู และเบสท์เวสเทิร์น,โรงแรมเรเนซองส์ ของตระกูลมหาดำรงค์กุล, โรงแรมแมริออท ของเสี่ยเจริญ การก่อสร้างคอน เวนชันและเอ็กซิบิชัน เซ็นเตอร์ นานาชาติ ของสวนนงนุช พัทยา โครงการก่อสร้างสนามกอล์ฟแห่งใหม่บนพื้นที่หลาย 100 ไร่ ของนักธุรกิจส่งออกซีฟูด บริเวณซิลเวอร์เลค พัทยา โครงการศูนย์การค้าและโรงแรม ของเทอร์มินอล 21 เป็นต้น

++ท่องเที่ยวพัทยาโต 10%
แรงดึงดูดที่ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ มาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยที่ 1 มาจากศักยภาพการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเติบโตสูงสุดในภาคตะวันออก โดยในปีที่ผ่านมา รายได้จากการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกรวมอยู่ที่ 3.12 แสนล้านบาท เฉพาะที่พัทยา อยู่ที่ราว 1.5แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตปีละกว่า 10% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวร่วม 10ล้านคน

ปัจจัยที่ 2 คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายอีอีซีของภาครัฐ ซึ่งโครงข่ายคมนาคมที่เกิดขึ้น ล้วนทำให้พัทยากลายเป็นเซ็นเตอร์ของทุกโครงข่ายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตะพุด ก็มีทางออกเชื่อมมายังพัทยา แถวโอเชี่ยนมารีน่า บริเวณนาจอมเทียน

++เซ็นเตอร์โครงข่ายคมนาคม
รวมไปถึงการขยายศักยภาพ สนามบินอู่ตะเภา การปรับปรุง ท่าเรือจุกเสม็ด (ท่าเรือสัตหีบ) เพื่อให้เป็นครูส เทอร์มินัล รองรับเรือสำราญจากต่างประเทศ ก็เอื้อให้พัทยารองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากพัทยามีความพร้อมมากที่สุดในการรองรับนักท่องเที่ยว จากจำนวนห้องพักที่มีไม่ตํ่ากว่า 8 หมื่นห้อง ความครบครันของแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ด้านการท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม

รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) พัทยาก็เป็น 1 ใน 10 สถานี อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่เมืองพัทยาจะผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟรางเบา (Tram) นำนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากรถไฟความเร็วสูงสถานีพัทยา ต่อรถไฟรางเบาเข้ามายังถนนเลียบชายหาดและพัทยาสาย 2 ได้ด้วย

ดังนั้นอีอีซี จึงยิ่งช่วยยกระดับเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ให้เกิดการลงทุนและการขยายตัวของนักท่องเที่ยวให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคต

MP22-3307-A ++ไฮสปีดเทรน 3 สนามบินได้ใช้ปี 66
ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดประชุมรับฟังความเห็นชาวชลบุรี สรุปผลศึกษารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่เมืองพัทยา โดยได้นำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการ โดยจะใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิม ได้แก่ 1.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศ ยานในเมืองหรือแอร์พอร์ตเรลลิงค์ (ARL) ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว

2.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง (ARLEX)

3.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง (HSR) โดยโครงการนี้มีการออกแบบเพิ่มเติมบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า-ขาออก) พาดผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ระยะทางรวม 260 กิโลเมตร

ประกอบด้วย 10 สถานี เป็นสถานียกระดับ 8 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีระยอง และสถานีใต้ดิน 2 สถานี ได้แก่ สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีอู่ตะเภา เป็นรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) 2 ทางวิ่ง โครงสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นโครง สร้างทางยกระดับ (Elevated) มีโครงสร้างระดับดิน (At-Grade) และโครงสร้างใต้ดิน (Tunnel) บางช่วง ใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้โครงการนี้รัฐบาลใได้รับการบรรจุไว้ในแผนการดำเนินโครงการและงบประมาณ ในงบประมาณปี 2560-2561
เมื่อการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟธรรมดา (City Line) ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ กว่า 103,920 คน/เที่ยว/วัน และมีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง (HSR) ช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง ถึงกว่า 65,630 คนต่อเที่ยวต่อวัน

สำหรับระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (หยุดทุกสถานี) ใช้เวลาราว 2 ชม. และระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (ไม่จอดระหว่างทาง) ใช้เวลาราว 1 ชม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ให้แก่ ชลบุรี, ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง และยกระดับการพัฒนาเมืองในแนวเส้นทางและจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่อีอีซีด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว