ก.แรงงานแจงค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดตามเกณฑ์มาตรฐานแรกเข้าทำงาน

10 ก.ย. 2560 | 07:54 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กระทรวงแรงงาน แจงค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับแรงงานแรกเข้าทำงาน

[caption id="attachment_206320" align="aligncenter" width="503"] นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ[/caption]

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ชี้แจงเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกล่าวว่า  อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการกำหนดเพดานค่าจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน  เฉพาะลูกจ้างคนเดียวที่สมควรจะได้รับและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ณ เวลานั้น ๆ   ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นมาตรฐานของการคุ้มครองแรงงาน  เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับค่าจ้าง

ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้นำมาปรับใช้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่นำมาพิจารณาในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า อาทิ  ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายลูกจ้าง ได้แก่ปัจจัยทางด้านค่าครองชีพและค่าจ้างที่ผู้ใช้แรงงานพึงได้รับผลตอบแทนจากการทำงานให้สมกับความสามารถและดำรงชีพอยู่ได้อย่างพอเพียง  ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายนายจ้างได้แก่ ความสามารถในการจ่าย และความอยู่รอดของธุรกิจ ส่วนปัจจัยทางภาครัฐได้แก่ การประสานผลประโยชน์ของทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวม  ความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจ  และผลกระทบของค่าจ้างขั้นตํ่าต่อการลงทุน รวมถึงพิจารณาระดับค่าจ้างโดยทั่วไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นด้วย เป็นต้น

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพการใช้จ่ายการครองชีพในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการขยายการลงทุนไปยังภูมิภาค  โดยมีคณะอนุกรรมการการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดร่วมกันพิจารณา อันเป็นกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาคไม่ใช่การตัดสินใจจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว  ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 จากการปรับอัตราค่าจ้างในอัตรา 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออก เพราะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้างแรงงานเหมือนประเทศไทย การพิจารณาเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน

การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี  อันประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง  ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน  ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ทั้งยังได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปในภูมิภาคเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดด้วย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องยิ่งขึ้น  รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มาดูความเหมาะสมของหลักเกณฑ์ สูตรการคำนวณที่เป็นไปตามหลักวิชาการที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศ ซึ่งในปี 2561 ได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาใหม่ โดยจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าซึ่งเป็นค่าครองชีพของประชาชนรอบ 1 ปี และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และจังหวัด (GPP) ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเฉลี่ย 5 ปี (พ.ศ2554-2558) มาเป็นฐานการคำนวณด้วย

“ขอเน้นย้ำว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กำหนดไว้เป็นหลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน ส่วนผู้ที่มีทักษะฝีมือแรงงานที่ได้มาตรฐาน กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดระดับค่าจ้างอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมสอดคล้องกับทักษะฝีมือและความรู้ความสามารถ ปัจจุบันได้ประกาศแล้ว 67 สาขาอาชีพ สูงสุดถึงวันละ 800 บาท และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มขึ้นอีก 16 สาขาอาชีพ หากให้ความสำคัญกับมาตรฐานฝีมือแรงงานประโยชน์จะเกิดขึ้นทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และประเทศชาติที่กำลังจะเดินหน้าสู่ประเทศไทย 4.0” นายอนันต์ชัยฯ กล่าวในท้ายที่สุด