พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวพ่นพิษ SMEs รายเล็กทยอยปิดกิจการ-วอนรัฐเยียวยาเร่งด่วน

22 ก.ค. 2560 | 01:30 น.
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยชี้ผลกระทบ พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับแก้ไขกระทบเอสเอ็มอีขนาดเล็กปิดกิจการแล้วบางส่วน เหตุแรงงานช็อกหนีกลับบ้านเกิด ระบุแม้ผ่อนคลายออก 6 เดือนแต่จะมีปัญหาเรื่องแรงงานไม่กลับมา วอนรัฐเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

[caption id="attachment_126669" align="aligncenter" width="503"] MP13-3230-a ณพพงศ์ ธีระวรประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย[/caption]

นายณพพงศ์ ธีระวรประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากกรณีการแก้ไขพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560นั้น มีผลทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกิจการขนาดเล็กต้องปิดกิจการไปแล้วบางส่วน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวเกิดความตื่นตระหนกกับข้อบังคับของร่างพ.ร.ก. ดังกล่าว จนตอ้ งเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดทำให้ไม่มีแรงงานในการดำเนินกิจการ ขณะที่บางกิจการก็ได้รับผลกระทบ จึงต้องลดกำลังการผลิตลง

ทั้งนี้ จากการหารือกับผู้ประกอบการต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ารู้สึกตกใจกับรายละเอียดของร่าง พ.ร.ก.ที่ออกมา โดยจากการสำรวจภาพรวมในช่วง 1 เดือนแรกกลุ่มแรงงานต่างด้าวเกิดอาการตกใจและมีการเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดไปเป็นจำนวนมาก ทำให้บางอุตสาหกรรม เช่น ก่อสร้างประมง เป็นต้น ส่งผลถึงกิจการเกิดการชะงักไปชั่วขณะ

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลใช้ ม.44 เพื่อชะลอผลการบังคับใช้ออกไปอีก 6 เดือนทำให้ช่วยผ่อนคลายบรรยากาศลงไปได้บ้าง แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งขณะนี้จะต้องจับตามอง เนื่องจากปัญหาสำคัญที่ตามมาเวลานี้คือแรงงานที่เดินทางกลับประเทศไปแล้วอาจจะไม่เดินทางกลับเข้ามาทำงานทั้งหมด เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเวลานี้ก็กำลังสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเอง

[caption id="attachment_181144" align="aligncenter" width="503"] พ.ร.ก.ต่างด้าวพ่นพิษSMEs รายเล็กทยอยปิดกิจการ-วอนรัฐเยียวยาเร่งด่วน พ.ร.ก.ต่างด้าวพ่นพิษSMEs รายเล็กทยอยปิดกิจการ-วอนรัฐเยียวยาเร่งด่วน[/caption]

“แรงงานที่ไม่เดินทางกลับมาไทย จะทำให้ผู้ประกอบการได้ผลกระทบทันที ซึ่งก็จะต้องดูว่าจะทำอย่างไร โดยบางกิจการที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้วก็จะทำให้ยิ่งแย่ลง ขณะที่บางกิจการขนาดเล็กอาจจะต้องปิดกิจการไปเลย ซึ่งภายใน 1-2 เดือนนี้คงต้องฝากภาครัฐให้จับตาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ”

นายณพพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า สมาพันธ์เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว เพื่อดำเนินการจัดระเบียบให้ถูกต้องตามกฎหมาย และลดปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ แต่อยากเสนอแนะให้รัฐบาลกลับไปทบทวนเรื่องของค่าปรับที่สูง 4-8 แสนบาทว่าสูงเกินไปหรือไม่ รวมถึงดูในรายละเอียดว่าอุตสาหกรรมใดที่สามารถบรรเทาได้ก็ให้ผ่อนปรนและอุตสาหกรรมใดที่ได้รับผลกระทบอย่างมากก็ควรจะให้การดูแลช่วยเหลือเยียวยา ส่วนผลกระทบต่อจีดีพีเอสเอ็มอีนั้น เวลานี้ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน แต่ภาคเศรษฐกิจจริงย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน และกระทบกับบางอุตสาหกรรม

“การดำเนินการจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่ผ่านมาหลังจากออกมาตรการก็เห็นเลยว่าแรงงานต่างเกิดอาการช็อกโดยในช่วง 6 เดือนที่มีการผ่อนผันระยะเวลาให้นั้น ภาครัฐจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง และมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ”

นายพัฒนศักดิ์ แสนสมรสกรรมการผู้จัดการบริษัท พีควอลิตี้ แมชชีน พาร์ท จำกัดกล่าวว่าได้รับผลกระทบทางอ้อมจาก พ.ร.ก. ดังกล่าว เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่ใช้ในกิจการทั้งหมดเป็นกลุ่มที่เดินทางผ่านเข้ามาทางด่านที่จังหวัดกาญจนบุรีเพราะฉะนั้นเวลาที่แรงงานถึงกำหนดจะต้องต่ออายุการทำงานก็จะต้องเดินทางกลับไปที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมดให้เสร็จสิ้นนานถึง 3 วัน ซึ่งจะมีผลทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักลงไปชั่วขณะ

ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าวต้องการให้ภาครัฐดำเนินการเรื่องของจุดให้บริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One stop) แต่ละจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่เพื่อความสะดวกสบาย เพราะแรงงานเองก็ต้องเสียภาษีที่จังหวัดนั้น รวมถึงแต่ละจังหวัดเองก็มีแรงงานประจำจังหวัด และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอยู่แล้ว ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนของแรงงานได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะดำเนินการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560