54 โรงงานนํ้าตาลป่วน! เลิกชดเชยส่วนต่างค่าอ้อย-เตรียมถกลดเสี่ยง

19 ก.ค. 2560 | 05:30 น.
จับตา 54 โรงงานนํ้าตาลป่วน หลัง 1 ธ.ค.ราคานํ้าตาลลอยตัวตามตลาดโลก-ยกเลิกระบบโควตา ก.ข.ค. กระทบหากราคาผันผวนแรง มีปัญหาในการจ่ายค่าอ้อยล่วงหน้า เตรียมถกราคากลางหรือกำหนดราคานํ้าตาลล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยง

สืบเนื่องจากวันที่ 1 ธันวาคม 2560 จะเปลี่ยนระบบบริหารจัดการนํ้าตาลทรายในประเทศ โดยราคานํ้าตาลจะไปสู่การลอยตัว และยกเลิกระบบโควตา ก. (บริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยผ่านบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทยหรืออนท.) โควตา ค. (ส่งออกโดยโรงงานนํ้าตาล) ทำให้วงการ นํ้าตาลปั่นป่วนโดยเฉพาะบทบาทของโรง งานนํ้าตาลทั่วประเทศที่มีจำนวนรวม 54 โรงงาน

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้โรง งานนํ้าตาลทราย 54 แห่ง มีความกังวล หลังจากที่ประกาศลอยตัวราคานํ้าตาลทราย ที่จะทำให้การกำหนดราคาอ้อยมีปัญหา ถ้าราคานํ้าตาลในตลาดโลกผันผวนแรง ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการจ่ายค่าอ้อยที่โรง งานนํ้าตาลจ่ายล่วงหน้าให้ชาวไร่อ้อยไปก่อน หากจ่ายค่าอ้อยให้ชาวไร่อ้อยในราคาที่สูง สำนักงานกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทรายหรือกท.จะเป็นผู้จ่ายชดเชยส่วนต่างค่าอ้อยให้ ในราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ซึ่งตรงนี้กำลังเป็นประเด็นว่า ถ้าเกิดกรณี ราคานํ้าตาลในตลาดโลกผันผวนมาก จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะครม.มีมติไม่ช่วยชาวไร่อ้อยแล้ว และกองทุนก็ไม่อยู่ในบทบาทที่ต้องไปจ่ายชดเชยแบบที่ผ่านมา

“เวลานี้ที่ปั่นป่วนคือการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ที่โรงงานนํ้าตาลจะต้องจ่ายค่าอ้อยให้ชาวไร่ ซึ่งโรงงานอาจจะจ่ายค่าอ้อยตํ่า เพราะไม่กล้าเสี่ยง ในขณะที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสำหรับลงทุนในการดูแลอ้อยน้อยลง ซึ่งล่าสุดทั้งซีกภาครัฐและโรงงานนํ้าตาลยังตกลงกันไม่ได้ในการแก้ปัญหานี้”

[caption id="attachment_179301" align="aligncenter" width="503"] 54โรงงานนํ้าตาลป่วน! เลิกชดเชยส่วนต่างค่าอ้อย-เตรียมถกลดเสี่ยง 54โรงงานนํ้าตาลป่วน! เลิกชดเชยส่วนต่างค่าอ้อย-เตรียมถกลดเสี่ยง[/caption]

นอกจากนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า พอมีข่าว วันที่ 1 ธันวาคมนี้ จะลอยตัวราคานํ้าตาลโดยปล่อยให้ราคาอิงตามตลาดโลก ทำให้บรรดากลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม ชะลอการสั่งซื้อนํ้าตาล เนื่องจากขณะนี้ราคานํ้าตาลในตลาดโลกถูกลง ขณะที่ราคานํ้าตาลในประเทศถูกควบคุมอยู่ตามกฏหมายเดิม ดังนั้นถ้าราคานํ้าตาลลอยตัว ก็จะทำให้โครงสร้างต้นทุนตํ่าลงเพราะราคานํ้าตาลอิงตามราคาตลาดโลกที่ขณะนี้ราคายังไม่สูงมาก

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคานํ้าตาล ล่าสุดโรงงานนํ้าตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอยู่ระหว่าง พิจารณาเรื่องการกำหนดราคากลางหรือกำหนดราคานํ้าตาลล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงกรณีราคานํ้าตาลผันผวนแรง และสะเทือนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ทันตามการขึ้น-ลงของราคานํ้าตาล เหมือนการกำหนดค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปร ที่ต้องมีคณะกรรมการดูแล โดยการพิจารณาเรื่องการกำหนดราคากลางนี้จะต้องเกิดขึ้นระหว่างภาคเอกชนตกลงกันเองโดยไม่มีภาครัฐเกี่ยวข้องด้วยเพื่อไม่ให้ผิดหลักองค์การการค้าโลก (WTO)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560