การเป็นชาติการค้ากับบทบาทใหม่ของรัฐ

06 เม.ย. 2560 | 04:02 น.
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) กำหนดไว้ว่าในปี พ.ศ. 2579 ระบบเศรษฐกิจไทยจะต้อง “มีความเป็นชาติการค้าบนฐานการขยายตัวของการค้าส่งค้าปลีกและเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มข้นขึ้น”

การเป็น “ชาติการค้าหมายถึงอะไร?” ชาติการค้าหมายถึงชาติที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยพิจารณาได้จากสัดส่วนมูลค้าของการค้าระหว่างประเทศต่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)   โดยทั่วไปแล้วประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดไม่ใหญ่นักและเป็นเศรษฐกิจที่เปิดจะมีลักษณะที่เป็นชาติการค้าเนื่องจากต้องพึ่งพาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจเนื่องจากขนาดของตลาดในประเทศมีขนาดที่จำกัด

ประเทศที่เป็นชาติการค้าอาจแบ่งออกได้เป็นสองประเภท  ประเภทแรกคือชาติการค้าที่เน้นเฉพาะการค้ามาขายไปสินค้า เนื่องจากไม่มีฐานการผลิตสินค้าในประเทศตนเองหรือมีน้อย เช่น ฮ่องกง และ สิงคโปร์ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่สูงมาก คือ 3.8 เท่าในกรณีของฮ่องกง และ 2.5 เท่าในกรณีของสิงคโปร์ตามที่ปรากฎในกราฟด้านล่าง  เนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นเกาะ มีพื้นที่น้อยจึงไม่มีการฐานการผลิตในประเทศจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าและการส่งออกสินค้าในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ   ประเภทที่สอง คือ ชาติการค้าที่มีขนาดของเศรษฐกิจปานกลางทำให้มีภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศแต่สัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่เป็นชาติการค้าที่มีอุตสาหกรรมภายในประเทศจะสูงไม่เท่ากับในกรณีของชาติการค้าประเภทแรก เช่น เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และ ไทย

นอกจากนี้แล้ว ชาติการค้าประเภทที่สองดังกล่าว  จะรวมถึงประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงที่มีภาคการส่งออกที่แข็งแกร่ง มีสินค้าที่เป็นที่รู้จักของตลาดโลกจำนวนมาก และมีขนาดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ทำให้สัดส่วนการพึ่งพาสินค้านำเข้าและส่งออกลดน้อยลง เช่น  เกาหลีใต้ เป็นต้นดังที่ปรากฎในภาพที่ 1ด้านล่าง

[caption id="attachment_139375" align="aligncenter" width="503"] เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์[/caption]

แต่ไม่ว่าจะเป็นชาติการค้าที่มีหรือไม่มีฐานการผลิตเป็นของตนเอง  ประเทศเหล่านี้จะต้อง มีความสามารถด้านการตลาด หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าจะต้อง “เก่งค้า”  กล่าวคือ จะต้องมีความความรู้ ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความต้องการของตลาดสินค้าในรายประเทศ กล่าวคือ จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับ รสนิยม กำลังซื้อ พฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้า ฯลฯ ของลูกค้านอกจากนี้แล้ว  ยังจะต้องรู้จักทั้งคู่แข่งและคู่ค้าในตลาดอีกด้วย  ดังนั้น บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมธุรกิจเอกชนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นการพยายามในการหาตลาดให้แก่สินค้าที่ผู้ประกอบการในประเทศผลิตขึ้นมาเป็นการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพตลาดในรายสินค้าในต่างประเทศเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้

จากยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้าเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้ ทีดีอาร์ไอ ดำเนินการศึกษานั้น พบว่า ประเทศที่เป็นชาติการค้า  “แนวหน้า” เช่น เกาหลีใต้ ชิลี และ ออสเตรเลีย ล้วนมีหน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่มีข้อมูลด้านการตลาดเชิงลึกในรายสินค้าและในรายประเทศที่สามารถให้การสนับสนุนผู้ส่งออกและผู้ลงทุนได้ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวของตลาดสินค้า คู่แข่งในตลาดจากทั้งในประเทศ และนอกประเทศ (สินค้านำเข้า)  จุดอ่อน จุดแข็งของคู่แข่งแต่ละราย กฎ ระเบียบหรือปัจจัยต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการรายใหม่ รายชื่อบริษัทในประเทศที่อาจเข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนหรือภาคีทางธุรกิจ ใครเป็นใครในอุตสาหรรม (who is who) กฎระเบียบการค้าการลงทุนและโอกาสการลงทุน เป็นต้นแต่เนื่องจากการทำรายงานด้านการตลาดเชิงลึกดังกล่าวต้องใช้ทรัพยากรมาก ทั้ง KOTRA ProChileหรือ Austradeจึงมีการแบ่งแยกลักษณะของบริการส่งเสริมออกเป็นสองประเภท  ประเภทแรกคือการให้บริการส่งเสริมในลักษณะ “ทั่วไป” เช่น การจัดนิทรรศการ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวนโยบายทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า กฎระเบียบเกี่ยวกับการค้า การลงทุนและการประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้เจาะจงในรายสินค้า  ประเภทที่สอง คือ การให้บริการข้อมูลด้านการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง (รายสินค้า/รายประเทศ)  ซึ่งมีการคิดค่าบริการตามต้นทุนสำหรับลูกค้าที่ต้องการข้อมูลรายตลาดสินค้าในเชิงลึกในกรณีของ Austradeนั้นหากการร้องขอให้มีการประเมินตลาดดำเนินการโดยสมาคมการค้าเพื่อสมาชิกจะไม่มีการเก็บค่าบริการ  แต่หากเป็นคำร้องขอของบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะจะมีค่าบริการ

อนึ่งการคิดค่าธรรมเนียมตามต้นทุนทำให้สามารถประเมินคุณภาพของรายงานตลาดที่หน่วยงานส่งเสริมภาครัฐจัดทำขึ้นได้  เพราะหากข้อมูลด้านการตลาดไม่ลึกหรือไม่ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล  ธุรกิจเอกชนก็จะไม่เลือกที่จะใช้บริการของหน่วยงานภาครัฐโดยอาจเลือกใช้บริการของบริษัทที่ปรึกษาเอกชนที่แม้จะมีราคาที่สูงกว่าหากแต่มีข้อมูลด้านการตลาดที่ลึกและครอบคลุมมากกว่า  ซึ่งจะเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ให้หน่วยงานที่จัดทำรายงานว่าจะต้องมีการปรับปรุงรายงานด้านการตลาดให้ดีขึ้นเพื่อที่จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจไทยได้ในทางปฏิบัติ

การปรับเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมการค้าและลงทุนที่ให้ความสำคัญแก่ข้อมูลการตลาดมากขึ้นมีนัยสำคัญต่อแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมในต่างประเทศ  ที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับตลาดในรายสินค้าในเชิงลึกโดยต้องเข้าไปเชื่อมต่อกับแวดวงธุรกิจและผู้กำหนดนโนยายในรายสาขาสินค้าหรือบริการมากขึ้นเพื่อที่จะได้ข้อมูลเชิงลึกหรืออาจจะต้องทำการสำรวจเพื่อได้ข้อมูลปฐมภูมิที่จำเป็นนอกจากนี้แล้ว ควรมีการกำหนดรูปแบบ (template) ของรายงานด้านการตลาดเชิงลึกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยมีการกำหนดรูปแบบร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาคมไทยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ สมาคมการค้า สมาคมธุรกิจรายสาขา ฯลฯ เมื่อมี template ดังกล่าวแล้ว  มาตรฐานของรายงานตลาดของสำนักส่งเสริมในทุกประเทศจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทำให้สามารถสร้างฐานข้อมูลด้านการตลาดในรายสินค้าในต่างประเทศได้อย่างเป็นระบบ

ในกรณีที่หน่วยงานส่งเสริมของรัฐขาดทักษะ หรือขาดบุคลากรที่ประจำในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดใหม่ ที่ยังไม่มีการเปิดสำนักงาน  ทำให้ไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานด้านการตลาดในเชิงลึกได้  รัฐอาจมีทางเลือกในการให้เงินสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการว่าจ้างบริษัทเอกชนศึกษาตลาดในต่างประเทศแทนก็ได้

สุดท้าย  ไม่ว่ารัฐไทยจะเลือกที่จะทำข้อมูลด้านการตลาดในเชิงลึกเองหรือจ้างบริษัทเอกชนทำ และจะคิดค่าธรรมเนียมอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือ ผู้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมจะต้องตระหนักว่าในการเป็น ‘ชาติการค้า” นั้น  การตลาดต้องเป็นตัวนำ การผลิตเป็นตัวตาม  ดังนั้น ข้อมูลด้านการตลาดจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแก่ภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย และเพื่อให้ข้อมูลด้านการตลาดที่รัฐจัดหาเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเป้าหมายจริง  ควรมีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานส่งเสริมและภาคเอกชนในการกำหนดรายละเอียดของข้อมูลด้านการตลาดที่รัฐควรจัดเก็บ

โดย : เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

             สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)