16วินด์ฟาร์มลุ้นหลุดเพิกถอน ส.ป.ก.เตรียมส่งผลสรุป ‘ฉัตรชัย’ แย้มแนวโน้มดี

27 มี.ค. 2560 | 08:00 น.
16 บริษัทวินด์ฟาร์มลุ้นระทึกผลตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ส.ป.ก.ส่งถึงมือ “ฉัตรชัย” ในสัปดาห์นี้เข้าข่ายผิดสัญญาเช่าพื้นที่และผลประโยชน์ตกกับเกษตรกรจริงหรือไม่ “สมปอง”เลขาฯ ส.ป.ก.แย้มแนมโน้มมีข่าวดี

จากที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการกังหันลมผลิตไฟฟ้าหรือวินด์ฟาร์มในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ ว่าทำถูกต้องตามสัญญาเช่าพื้นที่ รวมถึงตรวจสอบภาคสนามถึงผลประโยชน์จากโครงการตกถึงเกษตรในพื้นที่จริงหรือไม่ โดยให้รายงานผลภายในวันที่ 3 เมษายน 2560 นั้น

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการ ส.ป.ก.เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า ทาง เจ้าหน้าที่ส.ป.ก.อยู่ระหว่างเร่งทำข้อสรุปและในสัปดาห์หน้าจะนำเสนอข้อมูลและรายละเอียดรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อรับทราบและแถลงสรุปผลการตรวจสอบทั้งหมดคาดในวันที่ 29 มีนาคมนี้ ทั้งนี้การตรวจสอบข้อเท็จจริงมีจำนวนทั้งสิ้น 16 บริษัทใน 17 พื้นที่(มี 1บริษัทมีโครงการใน 2พื้นที่) ในจำนวนนี้ที่มีการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว 5 บริษัท ส่วนอีก 11บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ

"รัฐมนตรีให้ตรวจสอบในเรื่องสัญญาเช่าพื้นที่ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินว่าทำถูกต้องตามเงื่อนไขหรือไม่โดยยึดหลักตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินและยึดตามแนวทางคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในเรื่องผลประโยชน์ที่ตกกับเกษตรกรประกอบกัน ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าไปรวบรวมข้อมูลมาทั้งหมดทั้งจากเอกสารข้อมูล ข้อเท็จจริงในการดำเนินการดำเนินการของบริษัท และจากการสอบถามประชาชนในพื้นที่ ในบทสรุปจะสามารถให้ความเห็นหรือชี้ชัดได้ว่าสมควรหรือไม่สมควรเพิกถอนโครงการเขาหรือไม่อย่างไร"

สำหรับแนวโน้มผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไรนั้น นายสมปองตอบว่า "ตอบยาก แต่มีแนวโน้มที่ดี"เพราะจากการตรวจสอบในพื้นที่พบทั้ง 16 บริษัทรวม 17 โครงการได้ให้ประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกรใน 4 เรื่องหลักได้แก่ 1.จ่ายค่าเช่าพื้นที่ที่เสากังหันลมไปติดตั้งในอัตรา 3.5หมื่นบาท/ไร่/ปี รวมถึงพื้นที่ติดกันก็ได้รับผลตอบแทนในอัตราลดหลั่นกันลงไป 2.มีการตัดถนนเข้าโครงการเป็นผลพลอยได้ของเกษตรกรได้รับความสะดวกในการเดินทางรวมถึงการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร3.บริษัทเหล่านี้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามข้อบังคับของภาครัฐ และ 4.บางบริษัทยังมีการจัดตั้งกองทุนส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่โดยตรงในเชิงกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR)

อย่างไรก็ดีในการตรวจสอบนอกจากยึดตามกฎหมาย และยึดตามหลักการเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์จากโครงการแล้ว ยังต้องดูข้อเท็จจริงในเรื่องอื่นประกอบการพิจารณา เช่นกระบวนการการทำงานของบริษัทก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ทำผิดเงื่อนไขบ้างหรือไม่ อย่างไรก็ดีในภาพรวมหากพิจารณาแล้วมีเหตุอันควรให้เพิกถอน หรือไม่มีเหตุอันควรให้เพิกถอนอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้ง 16 บริษัทคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพราะในข้อเท็จจริงทุกบริษัทได้ดำเนินการในทางปฏิบัติที่คล้ายกัน ขณะที่เกษตรกรผู้ให้เช่าพื้นที่ดำเนินโครงการส่วนใหญ่ก็พึงพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับ

อนึ่ง ใน 5 บริษัทที่ได้ดำเนินโครงการและจำหน่ายไฟฟ้าจากวินด์ฟาร์มแล้วมีการลงทุนเฉพาะเสากังหันรวมประมาณ 140 ต้น ใช้เงินลงทุนต้นละ150 ล้านบาท รวมลงทุนราว 2.1 หมื่นล้านบาท และในอีก 11 บริษัทที่เหลือหากผ่านการตรวจสอบจะใช้เงินลงทุนรวมอีกกว่า 1 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560