ไทยส่อแววเสียตลาดสินค้าเกษตรฯให้ CLMV เพิ่ม 10%

01 ก.พ. 2560 | 00:51 น.
ไทยส่อแววเสียตลาดสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปให้ตลาด CLMV เพิ่ม 10% หลังเข้าสู่เออีซี แม้โดยภาพรวม ไทยจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นก็ตาม เหตุเพราะมีผลผลิตน้อย และการย้ายฐานผลิต

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)เมือวันที่ 31 ธันวาคม 2558 พบว่า 1 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรได้ดีขึ้น แต่ ปี2560  ไทยอาจจะเริ่มเสียผลประโยชน์มากขึ้นหรืออย่างน้อย 10% เนื่องจากตลาดในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี จะได้รับประโยชน์แทนไทย เนื่องจากเป็นฐานการผลิตของโลก อีกทั้งอยู่ใกล้กับจีนและไทย     ทั้งนี้ ปี 2559 ไทยส่งออกสินค้าไปยังเออีซีมีมูลค่า 321,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4% จากช่วงปี 2553-2558 ที่ส่งออกมูลค่า 261,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% หรือมีมูลค่า 60,092 ล้านบาท  โดยสินค้าเกษตรไทยขยายตัว 2.1% แต่ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 0.4% อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี2560 ภาพรวมในการส่งออกของไทยน่าจะเพิ่มขึ้น 5-6% จากสินค้า 11 รายการ เช่น ข้าวสาร อย่างข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และข้าวเหนียว ยางพารา ข้าวโพด ถั่วเหลือง กาแฟ มันสำปะหลัง เป็นต้น ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1,538 ล้านบาท

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าดังกล่าว พบว่า 59.2% เห็นว่าไทยยังได้ประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอาหารทะเลแปรรูป ถึง 95% รองลงมา ข้าวโพด ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์แปรรูป กล้วย โดยส่งออกไปมาเลเซียมากที่สุด แต่ยังมีสินค้าที่ไทยไม่ได้ประโยชน์ คือ ข้าวสาร  มันสำปะหลัง  ยางพารา  มะพร้าว เพราะในซีแอลเอ็มวีมีผลผลิตมากกว่าไทยประกอบกับไทยมีต้นทุนสูงกว่า แต่ทั้งนี้ คาดว่าผู้ประกอบการไทยจะส่งออกไปตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น เป็น  369,781  ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15%  จากปี 2559

“โดยภาพรวมแล้วไทยได้ประโยชน์ 7,416 ล้านบาท แต่เฉพาะในตลาดซีแอลเอ็มวี สินค้าที่ได้รับประโยชน์คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง มะพร้าว มะม่วง กล้วย เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารทะเลแปรรูป 1,181 ล้านบาท แต่สินค้าที่เสียประโยชน์คือ ข้าวสารทุกประเภท ข้าวเหนียว ยางพารา กาแฟ และมันสำปะหลัง รวม 131 ล้านบาท ทำให้ไทยได้รับประโยชน์รวมเพียง 1,050 ล้านบาทเท่านั้น อย่างไรก็ดี แนะนำให้สินค้าที่ไทยเสียเปรียบนั้น ย้ายฐานการผลิตและแปรรูปเข้าสู่เออีซี และโดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวี รวมถึงใช้เป็นฐานการส่งออกไปยังตลาดโลกด้วย ซึ่งทำให้สินค้าของไทยจะน้อยลง แต่ไปโตที่ซีแอลเอ็มวีแทน”

สำหรับตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในอาเซียน ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ เติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2558 ก่อนเปิดเออีซี มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท และหลังจากที่เข้าสู่เออีซีมูลค่าเพิ่มเป็น 3.7 ล้านล้านบาท และปี2560คาดว่าจะสูงถึง4 ล้านล้านบาท โดยตลาดเวียดนามใหญ่ที่สุด รองลงมา คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยอยู่อันดับที่ 4 แต่หลังจากเปิดเออีซี กลุ่มซีแอลเอ็มวีเข้ามามีส่วนแบ่งสูงขึ้น ดังนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ  ช่วยส่งเสริม พัฒนาคุณภาพสินค้า และศักยภาพของผู้ส่งออก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน จัดกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการเข้าตลาดเออีซี อาทิ การแสดงสินค้า การปรับปรุงขั้นตอนหรือเอกสารส่งออก และอำนวยความสะดวกทางการค้าให้สะดวก มีมาตรการหรือการจูงใจในการส่งออกอย่างชัดเจน