มติ ครม. (24 มกราคม 2560)

24 ม.ค. 2560 | 10:22 น.
9 สถาบันการเงินระดมมาตรการการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 24 มกราคม 2560  เห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบขีรีขันธ์ปี 2560 โดยกระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ 9 แห่ง ที่สามารถดำเนินการได้เองเป็นการเร่งด่วน อาทิ ธนาคารออมสิน จัดทำมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมปี 2560 โดยพักชำระเงินต้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 50-100 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการให้เงินกู้เพื่อประกอบธุรกิจหรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวม 2 มาตรการ คือ มาตรการพักชำระหนี้หรือเลื่อนกำหนดชำระหนี้ โดย ธ.ก.ส.จะพิจารณาผ่อนผันการชำระหนี้หรือเลื่อนกำหนดชำระหนี้ โดยไมคิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดชำระให้แก่เกษตรกรลูกค้า  ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและมีรายได้ไม่เพียงพอในการส่งชำระดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ได้ทันตามกำหนดชำระ และมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ให้กับเกษตกรลูกค้าของธ.ก.ส.หรือลูกค้าใหม่ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกการเกษตร ของตนเองได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ทำให้รายได้ ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 จากรายได้ปกติ โดยกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี โดยใน 6 เดือนแรกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0 ต่อจากนั้นคิดดอกเบี้ยในอัตรา MRRจนครบ กำหนดชำระคืน วงเงินสินเชื่อรวม 6,750 ล้านบาท ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้กู้รายละไม่เกิน1ล้านบาทต่อหนึ่งหลักประกัน ปลอดดอกเบี้ย3เดือนแรก ส่วนลูกค้ากู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ดอกเบี้ยร้อยละ3ต่อปี เป็นต้น

ขยายมาตรการภาษีหนุนการลงทุนในปท.อีก 1 ปี-ลดเหลือ 1.5 เท่า  

ที่ประชุม ครม.(24 มกราคม) มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม- 31 ธันวาคม 2560 โดยกระทรวงการคลังได้ปรับปรุงจำนวนการหักรายจ่ายจากเดิมที่คิดไว้ที่ 2 เท่า เหลือ 1.5 เท่า โดย 1 เท่าแรกนั้นจะเป็นการหักเท่าการจ่ายจริง และอีก 0.5 เท่านั้น เป็นการหักค่าศึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามปกติ อาทิ การลงทุนในเครื่องจักร ในส่วนประกอบอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ และอาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดิน และอาคารถาวรที่เป็นที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการดังกล่าวนี้รัฐบาลได้ออกมาตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมาโดยอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม หรือเปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น แต่ไม่นับรวมถึงการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม โดยครั้งนั้นได้อนุมัติไว้ที่ 2 เท่าดังกล่าว อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ คาดการณ์ว่า ในปี 2560 นี้การลงทุนของภาคเอกชนจะมีการปรับตัวดีขึ้น จากปี 2559 โดยในปี 2560 นี้ คิดว่าจะสามารถขยายตัวที่ประมาณ 2.8% จากเดิมจะขยายตัวที่ 0.6% ใน 9 เดือนแรกของปี 2559 ทั้งยังคาดการว่า มาตรการนี้จะส่งผลให้มีผู้ประกอบการมีการลงทุนในปี 2560 เพิ่มประมาณ 8 พันล้านบาท ขณะที่รัฐบาลจะเสียรายได้จากการเก็บภาษีนิติบุคคลรวมกันที่ประมาณ 800 ล้านบาท และกระทบกับรายได้ปี 2560 ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี

แก้กม.ธสน.-ไฟเขียว กม.จัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว 

ที่ประชุม ครม.(24 มกราคม) เห็นชอบอนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ฉบับปรับปรุงแก้ไข ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2536 โดยสาระสำคัญ เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องของอำนาจในการกระทำกิจการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าเพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการ โดยยกระดับบทบาทของ ธสน. ในการสนับสนุน ส่งออก และนำเข้า ลงทุนของบริษัทไทยในภูมิภาคได้ซึ่งจะสอดรับกับการค้าและการลงทุนข้ามประเทศที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ 5 ประเด็น อาทิ ให้อำนาจแก่ ธสน.ในการรับประกันผู้ซื้อในประเทศกรณีที่เป็นซัพพลายเออร์ของผู้ส่งออก รวมถึงเป็นการรับประกันความเสี่ยงการลงทุนในต่างประเทศกับผู้ลงทุนที่ไม่ได้รับสินเชื่อกับ ธสน.โดยตรง เป็นต้น

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ.โดยสาระสำคัญเป็นการให้บุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของบริษัทและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ โดยกำหนดให้เจ้าของบริษัทต้องมีสัญชาติไทย  และไม่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหรือถูกเปรียบเทียบปรับในโทษฐานให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจหรือมีอำนาจครอบงำกิจการ หรือมีอำนาจควบคุมบริษัทโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่เพียงผู้เดียว  หรือลงทุนแทนคนต่างด้าว เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ก่อนวันขอจัดตั้งบริษัท เป็นต้น

อนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 61 วงเงิน 2.9 ล้านล้าน

ที่ประชุม ครม.(24 มกราคม) มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 จำนวน 2.9 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 23,000 ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ 0.8 โดยมีการตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2.45 ล้านล้านบาท ทำให้เป็นงบขาดดุลที่ 450,000 ล้านบาท ภายใต้การประมาณการเศรษฐกิจในปี 2561 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 โดยการจัดทำงบประมาณในปี 2561 มีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจซึ่งอาจทำให้ต้องเพิ่มรายจ่ายของประเทศโดยสอดคล้องกับนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เห็นชอบให้กฟผ.ปรับปรุงระบบส่งไฟภาคใต้วงเงิน  3.5 หมื่นล.

ที่ประชุม ครม. (24 มกราคม) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่าง เพื่อสร้างความมั่นคงระบบการไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ วงเงินลงทุนรวมประมาณ 35,400 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่ปี 2559-2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการจัดทำสายส่งขนาดความจุ 500 KV เริ่มตั้งแต่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา และภูเก็ต ส่วนระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี 2563-2566 เป็นการจัดทำสายส่ง 500KV และการขยายสถานีส่ง เริ่มจากจังหวัดสงขลาลงไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 ปี