สบส.ดึงคลินิก/โรงพยาบาลเอกชนร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พื้นที่น้ำท่วม

09 ม.ค. 2560 | 07:46 น.
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน ในกทม. และ 13 จังหวัดพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ ร่วมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชน พร้อมทั้งตั้งวอร์รูมเฉพาะกิจฟื้นฟูสถานพยาบาลและสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะ อสม.ซึ่งคาดว่าได้รับผลกระทบกว่า 8 หมื่นคน เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือทั้งด้านปัจจัย 4 และอุปกรณ์ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ป้องกันโรคระบาดหลังน้ำลด

วันนี้ (9 มกราคม 2560) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขตทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ที่กรม สบส.เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์น้ำท่วมใน 13 จังหวัดภาคใต้ และให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของกรม สบส. วันนี้ได้จัดตั้งวอร์รูมเฉพาะกิจที่กรมฯ เพื่อให้การช่วยเหลือฟื้นฟูสถานพยาบาลที่ถูกน้ำท่วมกว่า 100 แห่ง ให้มีความปลอดภัยพร้อมให้บริการประชาชนอย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพป้องกันโรคที่มาจากน้ำท่วม เช่น โรคตาแดง อุจจาระร่วง ฉี่หนู เป็นต้น รวมทั้งการให้การช่วยเหลืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม. ที่ประสบภัย  ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้พร้อมปฏิบัติหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบภัย โดยมอบหมายให้ นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรม สบส. เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะคลี่คลาย

“เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมมีผลกระทบในวงกว้าง ในวันนี้ได้มอบหมายให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ประสานคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนในกทม. และในพื้นที่ 13 จังหวัดภาคใต้  เพื่อจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจรักษาประชาชนในพื้นที่ประสบภัยซึ่งเดินทางยากลำบาก เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเจ็บป่วยซ้ำเติม” นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าว

ด้าน นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ได้สั่งการให้กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน เร่งสำรวจจำนวน อสม. ใน13 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นคน เพื่อให้การช่วยเหลือทางด้านปัจจัย 4 เนื่องจาก อสม.บางคนขาดที่พักอาศัยบ้านถูกน้ำพัดทั้งหลัง และมีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิต จึงต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันได้ประสานให้ อสม.ในทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม เร่งสำรวจบ้านเรือนที่มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคไตวาย ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และให้ทำเครื่องหมายเป็นสัญลักษณ์ติดไว้ที่หน้าบ้านว่าเป็นบ้านที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ  โดยกรม สบส.จะเร่งจัดอุปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. เช่น รองเท้าบูท เสื้อชูชีพ ถุงดำ ไฟฉาย ถุงมือยาง ยาสามัญประจำบ้าน เรือท้องแบน เป็นต้น เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ โดยมีสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 11 จ.นครศรีธรรมราช และเขต 12 จ.สงขลา เป็นศูนย์ประสานงานหลักในภาคใต้ ที่ผ่านมาได้สนับสนุนอุปกรณ์ปฏิบัติงานให้อสม.ใน จ.พัทลุง และสงขลาไปแล้ว 250 ชุด

ทั้งนี้ ในวันนี้ได้ให้ทีมวิศวกรฉุกเฉิน จำนวน 2 ทีม ออกสำรวจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ใน จ.นครศรีธรรมราช และจ.สุราษฏร์ธานี ที่มียูนิตทำฟันซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อเร่งฟื้นฟูให้มีความปลอดภัยและพร้อมใช้งานได้ตามปกติ พร้อมทั้งให้เขตสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 11 จ.นครศรีธรรมราช จัดทีมวิศวกรติดตามเฝ้าระวังสถานพยาบาล ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันที่ จ.กระบี่ และรพ.หลังสวน จ.ชุมพร เนื่องจากมีมวลน้ำเพิ่มขึ้นจากฝนตกหนัก