สถาบันฯสิ่งทอโชว์ผลงานวิจัยเส้นใยจากพืช

05 ต.ค. 2559 | 09:06 น.
สถาบันฯ สิ่งทอ เปิดเวทีโชว์ผลงานวิจัยเส้นใยธรรมชาติ จากเปลือกต้นกัญชง ต้นไผ่ เปลือกมะพร้าว และใบสับปะรด วัตถุดิบเหลือใช้จากภาคเกษตร พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมป้อนอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งยานยนต์ ก่อสร้าง รองรับอุตสาหกรรม 4.0

นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและรักษาการผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยในการสัมมนา "ทิศทางเส้นใยธรรมชาติ..สู่อุตสาหกรรม 4.0" ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมีการส่งออกเป็นอันดับที่ 7 ของการส่งออกภาพรวม จึงนับว่ามีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยเริ่มชะลอตัวจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้นนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่ "อุตสาหกรรม 4.0" ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อยกระดับสินค้าไทยให้ก้าวสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มหนีการแข่งขันในตลาดล่าง โดยสิ่งทอนั้นได้ให้ความสำคัญเรื่องการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งไทยมีความหลากหลาย ทั้งยังมีวัสดุที่เหลือใช้จากภาคเกษตร สามารถนำมาวิจัยและพัฒนาเป็นเส้นใยจากธรรมชาติป้อนสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอได้ ในขณะที่กระแสของโลกก็มีความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้นเช่นกัน

สถาบันฯ จึงได้เร่งดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรด้วยการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2557 - 2559 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ดำเนินงานเป็นระยะที่ 3 มุ่งพัฒนาสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษและสิ่งทอเทคนิค พร้อมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถใช้งานได้จริง ประกอบไปด้วย

1.การออกแบบพัฒนาเส้นใยต้นกัญชง (Hemp) ด้วยเทคโนโลยีจากอิตาลีผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เส้นด้าย ผ้าผืนสำหรับเครื่องแต่งกายแฟชั่น เสื้อบุรุษและสตรี

2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยมะพร้าวอ่อนเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ

ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและเครื่องตกแต่ง เช่น รองเท้าสำหรับผู้สูงอายุ เสื้อต้านแบคทีเรีย และผ้ายกตัว (ใช้ทางการแพทย์) โดยเป็นผ้าที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย

3.การพัฒนาเส้นใยมะพร้าวแก่และเส้นใยไผ่เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Buildtech) ฝ้า เพดานและผนังตกแต่งภายใน

4.การประยุกต์ใช้เส้นใยสับปะรดในงานคอมโพสิทและสิ่งทอเทคนิคเพื่อใช้ในรถยนต์

ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ (Mobiltech) หน้ากากคอนโซลรถยนต์ แผงบุประตูด้านในรถยนต์ หมวกกันน๊อค และผนังในรถยนต์

โดยทั้งหมดได้นำมาจัดแสดงภายในงานวันนี้ และยังได้รวบรวมผลงานที่สถาบันฯ ได้วิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการฯ ที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย เส้นใยจากริมไหม เส้นใยกัญชง เส้นใยสับปะรด เส้นใยจากก้านกล้วย เส้นใยผักตบชวา เส้นใยสับปะรดแบบใยยาว รวม 3 ปี สรุปผลงานวิจัยทั้งหมด 10 ผลงาน พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมสิ่งทอรวมกว่า 1,000 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ตั้งแต่เส้นใย เส้นด้าย ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าแฟชั่น รองเท้า กระเป๋า เคหะสิ่งทอ รวมกว่า 100 รายการ โดยจัดแสดงเพื่อนำเสนอออกสู่สาธารณชน สร้างโอกาสให้กับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้นำไปต่อยอดพัฒนาสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้

"อย่างไรก็ตาม หากงานวิจัยดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีจนสามารถเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมและได้มาตรฐาน จะส่งผลต่อการพัฒนาวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นไทยให้ก้าวไปอีกระดับ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างเช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง สอดรับกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับการเติบโตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 " นายประสงค์ กล่าว หรือสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaitextile.org/index.php/blog/2016/10/2016-10-04